เล่าสู่กันฟัง
เมื่อวาน/วันนี้/และพรุ่งนี้ ของฟิเดล คาสโตร
ในที่สุด ฟิเดล คาสโตร ผู้นำตลอดกาลวัย 81 ปี ของคิวบา ก็ประกาศวางมือจากตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งครองมายาวนานร่วม 50 ปี หลังจากต้องเข้ารับการรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลตลอดระยะเวลา 19 เดือน ภายหลังการผ่าตัดกะเพาะอาหาร
คาสโตรประกาศสละตำแหน่งผู้นำทางการเมืองและผู้บัญชาการกองทัพคิวบา โดยยืนยันว่าไม่ประสงค์และจะไม่ยอมรับตำแหน่งทั้งสองโดยเด็ดขาด เนื่องจากปัญหาด้านสุขภาพอย่างไรก็ตามเขายังไม่ได้ถอนตัวจากการเมืองเสียเลยทีเดียว และว่าจะคงต่อสู้ในฐานะ “นักรบแห่งอุดมการณ์” ต่อไป
ฟิเดล คาสโตร เกิดที่คิวบา เมื่อปี ค.ศ.1926 ในครอบครัวของเจ้าของไร่อ้อย และมีความคิดทางขบถมาตั้งแต่เด็ก โดยเมื่อตอนที่อายุ 13 ปี เคยเป็นตัวตั้งตัวตีในการวางแผนให้คนงานในไร่อ้อยของพ่อก่อการสไตร์ค
ถึงแม้ทั้งพ่อและแม่จะด้อยการศึกษา แต่ก็เห็นความสำคัญของการเรียน ทำให้คาสโตรถูกส่งเข้าโรงเรียนประจำของนิกายเยซูอิตตั้งแต่เล็ก ซึ่งแม้จะไม่ชอบกฎระเบียบที่เคร่งครัดของโรงเรียน แต่คาสโตรก็แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการเรียนและความเป็นนักกีฬา จนได้รับรางวัลนักกีฬาประเภทนักเรียนยอดเยี่ยมแห่งชาติ
เมื่อสำเร็จการศึกษาวิชากฏหมาย คาสโตรได้ทำงานเป็นทนายความอยู่ในกรุงฮาวานาและเนื่องจากการทำหน้าที่ให้กับคนจนซึ่งได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาทางกฏหมาย ทำให้คาสโตรประสบปัญหาเรื่องการเงิน อย่างไรก็ตามประสบการณ์ในการเป็น “ทนายคนยาก” คาสโตรได้ซึมซับถึงปัญหาต่าง ๆ ของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ชาวคิวบาทั่วไปถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายทุนและนักธุรกิจอเมริกันซึ่งควบคุมเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในเวลานั้น
ในปี 1947 คาสโตรได้เข้าเป็นสมาชิกพรรคประชาชนคิวบา ซึ่งได้ทำการรณรงค์ต่อต้านการคอรัปชั่น ความไม่เป็นธรรมในสังคม ความยากจน การว่างงาน และการกดค่าแรง โดยพรรคประชาชนคิวบากล่าวหาว่ารัฐบาลกินสินบนและเอื้อประโยชน์แก่บริษัทอเมริกันที่มาเปิดโรงงานและสำนักงานในคิวบา
ถึงปี 1952 คาสโตรลงสมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรคประชาชนคิวบา และเป็นผู้สมัครฝีปากกล้าที่มีลีลาในการปราศรัยหาเสียงเป็นที่ประทับใจประชาชน แต่ถึงแม้ว่าพรรคประชาชนคิวบาจะได้รับความนิยมอย่างสูงและเป็นที่คาดหมายว่าจะมีชัยในการเลือกตั้งทั่วไป แต่แล้วคณะทหาร ที่นำโดยนายพลฟัลเกนซิโอ บาติสลา (Fulgencio Batisla) ก็ชิงเข้ายึดอำนาจไปเสียก่อนทำให้คาสโตรได้ข้อสรุปว่า การปฏิวัติเป็นหนทางเดียวที่จะนำพรรคประชาชนคิวบาก้าวไปสู่การเป็นผู้ปกครองประเทศได้ ดังนั้น ในปี 1953 คาสโตรจึงนำกำลังที่มีกันอยู่แค่ 123 คน เข้าโจมตีค่ายทหารแห่งหนึ่ง ซึ่งผลปรากฏว่าสมาชิกส่วนหนึ่งเสียชีวิตในการต่อสู้ และอีกส่วนถูกสังหารหลังการจับกุม แต่สำหรับคาสโตรนั้น เขาถูกส่งตัวเข้าเรือนจำ และเกือบจะถูกวางยาพิษ แต่โชคดีที่แผนการร้ายถูกเปิดโปง และด้วยแรงกดดันจากโลกภายนอก ทำให้นายพลบาติสลาตกลงใจยอมที่จะปล่อยให้คาสโตรได้มีชีวิตอยู่ต่อไป
คาสโตรถูกนำตัวขึ้นสู่การพิจารณาคดีในศาลด้วยข้อหาดำเนินการปลุกระดมให้มีการใช้กำลังต่อต้านรัฐบาล คาสโตรใช้โอกาสนี้แถลงถึงปัญหาต่างๆ ที่คิวบาเผชิญอยู่ และเสนอแนวทางในการแก้ไข ซึ่งคำแถลงนี้ต่อมาได้รวมพิมพ์เป็นเล่มชื่อ ‘ประวัติศาสตร์จะเป็นผู้ไถ่บาปให้กับฉัน’ (History Will Absolve Me) แม้ว่าศาลจะพิพากษาว่าคาสโตรมีความผิดและลงโทษจำคุก 15 ปี แต่เหตุการณ์ในศาลและหนังสือเล่มนั้นก็ทำให้คาสโตรเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในคิวบาและแนวคิดเรื่องการปฏิวัติของเขาก็ได้รับการยอมรับทั่วประเทศ พร้อม ๆ กับที่พรรคประชาชนคิวบาได้รับการยินยอมให้ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ใหม่ ทั้งหมดนี้กลายเป็นแรงผลักดันให้นายพลบาติสลาต้องยอมปลดปล่อยคาสโตร หลังจากที่ถูกคุมขังได้เพียง 2 ปี บาลิสต้าประกาศจะจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป แต่คำประกาศเหล่านั้นก็ไม่มีทีท่าว่าจะเป็นจริงทำให้คาสโตรเดินทางออกจากคิวบาไปยังเม๊กซิโก เพื่อวางแผนโค่นล้มอำนาจรัฐบาลทหาร
ในปี 1956 หลังจากสะสมอาวุธได้พอสมควร คาสโตรพร้อมด้วยเช เกวารา ฆวน อัลมีดา และพลพรรคอีก 18 คน ก็ลงเรือลอบเดินทางกลับเข้ามาในคิวบา คณะปฎิวัติกลุ่มนี้เป็นที่รู้จักกันในนาม ‘ขบวนการ 26 กรกฏา’ ทั้งนี้เพื่อรำลึกถึงวันที่คาสโตรนำกำลังเข้าโจมตีค่ายทหารเมื่อปี 1953 คาสโตรวางแผนไว้ว่าจะไปตั้งมั่นอยู่บนภูเขาเซียร่า เมเอสตร้า (Sierra Maestra) แต่ถูกซุ่มโจมตีระหว่างทางทำให้สูญเสียกำลังคนและอาวุธซึ่งมีอยู่อย่างจำกัดไปพอสมควร อย่างไรก็ตามในช่วงเวลา 2-3 เดือนต่อมา หน่วยรบแบบกองโจรของคาสโตรก็สามารถลอบโจมตีหน่วยทหารรัฐบาลและยึดอาวุธเพิ่มเติมได้ ชัยชนะของคาสโตรทำให้มีผู้เข้าร่วมมากขึ้น รวมทั้งได้แนวร่วมจากนักศึกษาและพวกพระแคทอลิก ขณะที่รัฐบาลดำเนินการปรามปรามและสืบหาเบาะแสของฝ่ายกองกำลังประชาชนอย่างเข้มงวดและด้วยวิธีการอันรุนแรง ทั้งการทรมาณ และแขวนคอตามถนน เพื่อปรามไม่ให้ประชาชนให้ความร่วมมือกับคาสโตร ซึ่งก่อให้เกิดการต่อต้านอย่างกว้างขวาง และองค์กรอิสระ 45 องค์กร ประกาศให้ความสนับสนุนขบวนการ 26 กรกฏา อย่างเปิดเผย
ต้นปี 1958 บาลิสต้าตัดสินใจที่จะปราบปรามคาสโตรอย่างเด็ดขาด เขาส่งกำลังเข้าบุกที่มั่นของคาสโตร ด้วยการทุ่มทหารกว่าหนึ่งหมื่นคนเข้าบดขยี้กองกำลังปฏิวัติซึ่งมีกำลังอยู่เพียงแค่ 300 คน แต่ทหารของบาลิสต้ากลับต้องแตกพ่าย ทั้งเสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นเรือนพัน ที่เหลืออยู่ก็ถูกจับเป็นเชลย คาสโตรให้การดูแลเชลยเหล่านั้นเป็นอย่างดี ทำให้ทหารส่วนใหญ่เปลี่ยนใจมาเข้าข้างฝ่ายกบฎ ซึ่งเพิ่มความเข้มแข็งแก่คาสโตรอย่างมาก
สหรัฐฯ ให้ความสนับสนุนทางทหารแก่บาลิสต้าในการปราบปรามกองกำลังประชาชนอย่างเต็มที่ ทั้งเครื่องบิน เรือรบ รถถัง และระเบิดนาปาล์ม แต่เมื่อเห็นว่าไม่มีทางที่จะเอาชนะได้สหรัฐฯ ก็แนะนำให้บาลิสต้าจัดการเลือกตั้งทั่วไปเพื่อลดแรงกดดันภายในประเทศแต่ชาวคิวบาประกาศคว่ำบาตรการเลือกตั้งครั้งนี้
จากปฏิกริยาของประชาชนดังกล่าว ทำให้คาสโตรรู้ว่าเขาสามารถที่จะเอาชนะบาลิสต้าได้อย่างเด็ดขาดแล้ว คาสโตรเคลื่อนพลจากที่มั่นบนภูเขาและสวนสนามเข้าไปในตัวเมือง บาเลสต้าตัดสินใจบินหนีออกนอกประเทศ ปล่อยให้บรรดานายพลคนอื่นจัดตั้งรัฐบาลทหารชุดใหม่ ซึ่งคาสโตรตอบโต้ด้วยการเรียกร้องให้คนงานหยุดงาน เพื่อบีบบังคับให้รัฐบาลทหารยินยอมปฏิบัติตามความต้องการของประชาชน – ถึงวันที่ 1 มกราคม 1949 คาสโตรก็นำพลพรรคปฏิวัติเดินแถวเข้าสู่กรุงฮาวานา เพื่อรับตำแหน่งผู้นำคนใหม่ของคิวบา
คาสโตรใช้เวลา 100 วันแรกในตำแหน่ง ไปกับการชำระสะสางปัญหาต่าง ๆ ของสังคมคิวบา และออกกฎหมายใหม่หลายฉบับ ซึ่งกฏหมายดังกล่าวบางฉบับก่อให้เกิดความไม่พอใจแก่สหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฏหมายการครอบครองที่ดินและป้องกันการผูกขาด เนื่องจากบริษัทอเมริกันถือครองที่ดินในคิวบาไว้เป็นจำนวนมาก รวมทั้งกิจการโทรศัพท์คิวบาก็ถูกผูกขาดโดยบริษัทอเมริกัน รัฐบาลสหรัฐฯ ขู่จะไม่ให้ความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งลดการซื้อน้ำตาลลง หากคิวบายังไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายที่มีผลกระทบต่อธุรกิจของคนอเมริกัน แต่ผู้นำคนใหม่ของคิวบาปฏิเสธที่จะยอมตามคำขู่ของสหรัฐฯ ในปี 1960 คาสโตรประกาศยึดทรัพย์สินของบริษัทธุรกิจสหรัฐฯ มูลค่า 850 ล้านดอลล่าร์เป็นของรัฐ และเจรจาขายน้ำตาลที่ถูกสหรัฐฯ ใช้เป็นเครื่องมือในการบีบบังคับคิวบา ให้แก่โซเวียตและยุโรปตะวันออก ซึ่งโซเวียตยังได้ตกลงที่จะให้ความสนับสนุนด้านอาวุธ เทคโนโลยี และเครื่องจักรกลแก่คิวบาแทนสหรัฐฯ
ประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ของสหรัฐฯ ตกอยู่ในฐานะลำบาก เนื่องจากยิ่งบีบคั้นเท่าไหร่ คิวบาก็ยิ่งถอยห่างจากสหรัฐฯ ไปใกล้ชิดกับโซเวียตเท่านั้น และสิ่งที่สร้างความกังวลแก่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มากที่สุดก็คือเกรงว่าโซเวียตอาจใช้คิวบาเป็นฐานในการปฏิบัติการทางทหารต่อประเทศลาตินอเมริกาและสหรัฐฯ ดังนั้นในเดือนมีนาคม 1960 ไอเซนฮาวร์จึงได้อนุมัติแผนการโค่นล้มคาสโตรตามที่ CIA เสนอ แผนดังกล่าวใช้งบประมาณ 13 ล้านดอลล่าร์ และเจ้าหน้าที่ CIA ประมาณ 400 คน เพื่อฝึกอาวุธให้แก่ชาวคิวบาพลัดถิ่นแล้วส่งกลับไปปฏิบัติการในคิวบา รวมทั้งการว่าจ้างมาเฟียอเมริกันซึ่งขุ่นเคืองที่รัฐบาลปฏิวัติคิวบาปิดซ่องโสเภณีและบ่อนการพนันในฮาวานา ให้ลอบสังหารคาสโตร ซึ่งคาสโตรเปิดเผยในภายหลังว่าเขาเกือบจะถูกปลิดชีพถึง 20 ครั้ง แต่ก็รอดมาได้ทุกครั้ง
ในปี 1961 ไอเซนฮาวร์ครบวาระ และจอห์น เอฟ.เคเนดี้ ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ เคเนดี้มอบให้น้องชายคือรอเบิร์ต เคเนดี้ สานต่อแผนการโค่นล้มคาสโตรของไอเซนฮาวร์ ในวันที่ 14 เมษายน 1961 เครื่องบิน B-26 ของสหรัฐฯ ก็เปิดฉากยุทธการถล่มฐานบินของคิวบา ซึ่งเป็นผลให้กองทัพอากาศคิวบาเหลือเครื่องบินเพียง 8 ลำ กับนักบิน 7 คน และสองวันหลังจากนั้น เรือพาณิชย์หลายลำก็ขนชาวคิวบาพลัดถิ่น 1,400 คน เพื่อจะไปขึ้นบกที่อ่าวหมู (Bay of Pigs) ในคิวบา แต่การปฎิบัติการในครั้งนั้นล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เมื่อเรือทั้งสองลำนั้น รวมทั้งเรือที่บรรทุกอาวุธยุทโธปกรณ์ถูกจม เครื่องบินถูกยิงตก 2 ลำ และภายในเวลา 72 ชั่วโมง กองกำลังทั้งหมดก็ต้องเผชิญกับถูกสังหาร หรือไม่ก็บาดเจ็บ และต้องยอมแพ้
เหตุการณ์ที่อ่าวหมูทำให้สถานการณ์ระหว่างสหรัฐฯ กับคิวบาทรุดลงอย่างมาก และคิวบาหันไปหาโซเวียตเต็มตัว ในช่วงต้นเดือนกันยายน 1962 เครื่องบินสอดแนม U-2 ของสหรัฐฯ พบว่าโซเวียตกำลังดำเนินการติดตั้งขีปนาวุธแบบ SAM ในคิวบา และมีเรือโซเวียตเดินทางไปคิวบาเพิ่มขึ้น ทำให้สหรัฐฯ กังวลว่าเรือเหล่านั้นอาจจะขนขีปนาวุธและอาวุธไปให้คิวบา ประธานาธิบดีเคเนดี้ได้แสดงความกังวลในเรื่องนี้ต่อโซเวียต และว่าสหรัฐฯ จะไม่ยอมให้มีการติดตั้งอาวุธที่อาจเป็นภัยต่อสหรัฐฯ ในคิวบา โดยเฉพาะขีปนาวุธ SAM ซึ่งมีศักยภาพที่สามารถทำลายเครื่องบินสอดแนม U-2 ได้ ขณะเดียวกันก็ใกล้เวลาที่จะเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา และคะแนนนิยมของเคเนดี้กำลังลดลงอย่างมากอันเนื่องมาจากปัญหาคิวบา
ในวันที่ 15 ตุลาคม มีรายงานข่าวหลายกระแสว่าโซเวียตได้ติดตั้งขีปนาวุธหัวรบนิวเคียร์พิสัยไกลให้คิวบา เคเนดี้เรียกประชุมเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงเป็นการด่วนเพื่อหาทางสะกัดกั้นเรือโซเวียต ฝ่ายทหารและ CIA เสนอให้ทิ้งระเบิดถล่มหรือส่งกำลังเข้ายึดคิวบา แต่เคเนดี้เกรงว่าจะก่อให้เกิดสงครามนิวเคลียร์กับโซเวียต ขณะที่เสียงส่วนใหญ่เห็นว่าควรใช้กองเรือรบปิดล้อมคิวบา เคเนดี้ค่อนข้างจะเห็นด้วยกับการปิดล้อม แต่ก็สั่งให้ฝูงบินเตรียมพร้อมที่จะปฏิบัติการได้ในทันทีที่ได้รับคำสั่ง
โลกตกอยู่ในภาวการณ์ตึงเครียด เมื่อสหรัฐฯ ยื่นคำขาดให้เรือโซเวียตที่มุ่งหน้ามายังคิวบาให้หันหัวกลับไป ขณะที่เสียงของชาวสหรัฐฯ ส่วนใหญ่สนับสนุนท่าทีอันแข็งกร้าวของเคเนดี้ จนถึงวันที่ 24 ตุลาคม เรือโซเวียตที่เผชิญหน้ากับกองเรือสหรัฐฯ ซึ่งปิดล้อมคิวบาอยู่ ก็ยินยอมกลับลำ ต่อมาในวันที่ 26 ตุลาคม นายกรัฐมนตรีนิกิต้า ครุสเชฟ แห่งสหภาพโซเวียต ก็ส่งสาส์นถึงเคเนดี้ แจ้งว่าโซเวียตยินดีจะย้ายฐานขีปนาวุธจากคิวบา แต่มีข้อแม้ว่าสหรัฐฯ จะต้องไม่ใช้กำลังรุกรานคิวบา
สถานการณ์ที่ทำท่าว่าจะคลี่คลายไปในทางที่ดีเกิดความพลิกผันอีกครั้ง เมื่อเครื่องบินสอดแนม U-2 ของสหรัฐฯ ถูกยิงตกในคิวบา ฝ่ายทหารได้ทวงถามสัญญาที่เคเนดี้เคยให้ไว้ในช่วงวิกฤตการณ์ เมื่อเขาเลือกใช้มาตรการการปิดล้อมแทนการโจมตีคิวบา ว่าหากเครื่องบิน U-2 ถูกยิง จะยอมให้ฝ่ายทหารถล่มคิวบา แต่เคเนดี้ปฏิเสธการทวงถามของทหารและยอมรับข้อเสนอของครุสเชฟ
วิกฤตการณ์ขีปนาวุธในคิวบา เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวของการเผชิญหน้ากันทางนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐฯ กับโซเวียต และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของสงครามเย็น ซึ่งจบลงด้วยการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในที่สุด
คาสโตรยังคงเป็นไม้เบื่อไม้เมากับสหรัฐฯ และรับความช่วยเหลือจากโซเวียตต่อมาโดยตลอด จวบจนสิ้นยุคของโซเวียตในปี 1989 ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจจากโซเวียตก็พลอยยุติลงไปด้วย
ในปี 1991 เศรษฐกิจของคิวบาทรุดลงตามภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ การขาดเครื่องอะไหล่และการซ่อมบำรุงทำให้เครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตน้ำตาลและยาสูบมีประสิทธิภาพต่ำลง รวมทั้งไม่สามารถจะพึ่งพาตลาดในยุโรปตะวันออกได้เช่นเดิม
แม้ว่าฟิเดล คาสโตร จะเป็นสัญลักษณ์แห่งการปฎิวัติ และการแข็งข้อต่อมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และยังคงได้รับการยอมรับนับถือจากผู้นำในประเทศลาตินอเมริกาจากอดีตถึงปัจจุบัน แต่เขาก็ได้รับการวิพากษ์ทั้งด้านดีและด้านร้าย ในส่วนหนึ่ง ฟิเดล คาสโตร เป็นตำนานการต่อสู้อันยิ่งใหญ่กับระบอบเผด็จการ แต่อีกด้านหนึ่งเขากลับปกครองประเทศอย่างเข้มงวดและไม่เคยยินยอมให้มีการเลือกตั้งโดยเสรีในคิวบา
ในสายตาขององค์กรสิทธิมนุษยชนแห่งชิลี ก็เห็นว่า ด้านหนึ่งคาสโตรจะถูกจดจำในฐานะผู้ฉกฉวยสิทธิมนุษยชนไปจากประชาชนคิวบา แต่อีกด้านหนึ่งคาสโตรจะถูกจารึกในฐานะ
ผู้ให้ประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองในด้านที่อยู่อาศัย สุขภาพ การศึกษา ฯลฯ
โดย นายอดิศร คุปตวนิชเจริญ ID: 5131007105
6 ความคิดเห็น:
เออ เพิ่งรู้จักนะเนี่ย ว่า ฟิเดล คาสโตร คือคนนี้เนี่ย
ถ้าประเทศไทยปกครองแบบ คิวบา
จะสงบมั้ย ???
บล๊อก แจ่ม ^^
อะคับ เนื้อหาเยอะดีคับ
ได้รู้เกี่ยวกับประเทศคิวบาที่เราไม่เคยรู้มาก่อน
"เมื่อวาน/วันนี้/และพรุ่งนี้ ของฟิเดล คาสโตร"
เริ่ดๆ ^^
ว๊า ว ว ว วๆๆๆ
น่าสนใจมาก กก ก ..
อุดมการณ์ น่านับถือ !!!
^^
ขอบคุณมากค่ะ สำหรับบทความที่นำมาแบ่งปันให้กัน
แสดงความคิดเห็น