วันเสาร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2551

ราอูล คาสโตร ธำรงไว้ซึ่งอุดมการณ์..คอมมิวนิสต์ตายไม่ได้

ราอูล คาสโตร ธำรงไว้ซึ่งอุดมการณ์...คอมมิวนิสต์ตายไม่ได้

ในวันที่ ราอูล คาสโตร(Raul Modesto Castro) น้องชายผู้เคียงบ่าเคียงไหล่มาในการปฏิวัติประเทศคิวบา กับอดีตประธานาธิบดีฟิเดลคาสโตรขึ้นรับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่23 ของประเทศสาธารณรัฐคิวบา เมื่อวันที่25 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีคนใหม่กล่าวปราศรัยถึงการเปลี่ยนแปลงว่าแม้ครั้งนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแต่ก็จะเป็นไปอย่างมีขีดจำกัด

ฟังสะดุดหูว่า ฯพณฯหมายความกระไรหรือท่านแก่แล้วจึงออกตัวไว้ก่อนว่าคงไม่อยากทำอะไรมากมายให้ลำบากต่อสังขารที่ปาเข้าไป76 ปีแล้ว หากคาสโตรผู้น้องก็ขยายความว่าแม้เขาจะขึ้นมารับตำแหน่งแทนพี่ชายแต่อย่างไรแล้วเขาก็จะต้องรอความเห็นหรือไปขอคำปรึกษาในเรื่องสำคัญๆของประเทศจากอดีตประธานาธิบดีฟิเดลคาสโตรอยู่ดีเพราะท่านผู้น้องเห็นว่าท่านผู้พี่ก็ยังไม่ได้ล้มหายตายจากแถมยังคิดอ่านคล่องแคล่วดีที่สำคัญในความรู้สึกของราอูลคาสโตรวันนี้ยังไม่ใช่เวลาที่เหล่าผู้นำการปฏิวัติจากยุค 50 จะส่งผ่านอำนาจให้คนรุ่นต่อไป

ฟิเดลก็คือฟิเดล...คุณก็รู้ดี ฟิเดลไม่ใช่คนที่ใครจะมาแทนที่ได้และผู้คนจะยังคงสานต่องานของเขาต่อไปแม้เขาจะไม่ได้นั่งอยู่ในสภาก็ตาม
“...ฟิเดลยังคงอยู่กับเราด้วยสติปัญญาที่เฉียบคมเฉกเช่นเดิม...ไม่มีใครจะสามารถมีสิทธิอำนาจเท่าที่ฟิเดลมีมาได้อีกแล้ว ด้วยสิ่งที่เขาเป็นเพราะเขาคือผู้สร้างการปฏิวัติที่แท้จริง”


เห็นจะเป็นประโยคที่ราอูลกล่าวถึงฟิเดลอย่างเชื่อมั่นศรัทธาข้างต้น บรรดาผู้สังเกตการณ์จึงมองการส่งผ่านอำนาจคราวนี้ว่าจริงๆแล้วราอูลก็เพียงขึ้นมาออกหน้าเป็นตรายางให้พี่ชายผู้ที่ไฟในร่างชราแสนทรุดโทรมยังคุโชนเท่านั้นเองเนื่องจากฟิเดลมีปัญหาด้านสุขภาพอย่างหนักจนต้องเข้าโรงหมอซ่อมแล้วซ่อมอีกแล้วประโยชน์ใดหรือที่ชาติและเชื้อชนชาวคิวบาจะได้จากคาสโตรผู้น้อง? ในเมื่อเขาแย้มออกมาแล้วว่า คิวบาจะไม่ผิดไปจากที่เคยเป็นเสียตั้งแต่วันแรกที่รับตำแหน่ง

ราอูลกล่าวไว้ก่อนหน้าที่จะถูกเลือกขึ้นดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการว่า รัฐบาลของเขาคงจะปรับตัวบ้างเพื่อให้อยู่รอดได้ตามยุคสมัยเขาจึงเสนอให้กระจายอำนาจออกสู่หน่วยเทศบาลมากขึ้นและปรับปรุงส่วนราชการในฮาวานาให้กระเตื้องขึ้น

สิ่งที่จะตอกย้ำความยืนยงและบทบาทตรายางของ ราอูลคาสโตรได้เด่นชัดคงไม่พ้นคำพูดของฮูโกชาเวซประธานาธิบดีเวเนซุเอลา(พันธมิตรด้านเศรษฐกิจของคิวบา) สหายสนิทและทายาททางการเมืองของ ฟิเดลคาสโตรที่ว่ากันว่ารู้ข่าวการตัดสินใจนี้ก่อนที่จะมีการประกาศอย่างเป็นทางการที่พูดอย่างพึงพอใจและมั่นใจถึงการเปลี่ยนผู้นำครั้งนี้ว่า“เกิดขึ้นโดยปราศจากความเจ็บปวดรุนแรงใดๆการเปลี่ยนผ่านในคิวบาเกิดขึ้นเมื่อ49 ปีที่แล้ว จากทุนนิยมซึ่งปกครองโดยจักรวรรดินิยมที่มีคิวบาเป็นเมืองขึ้นการเปลี่ยนผ่านจะยังเดินหน้าต่อไปโดยมีฟิเดลคาสโตรนำขบวนอยู่เสมอ”

แต่ภารกิจที่ท้าทายความสามารถของราอูลที่สุดก็น่าจะเป็นสถานการณ์ทางเศรษฐกิจนั่นเอง เนื่องจากตั้งแต่ราอูลรักษาการประธานาธิบดีในปี 2006 เป็นต้นมา ชาวคิวบาต่างหวังว่าเขาจะสามารถทำให้ประชาชนมีโอกาสได้รับเงินเดือนที่เป็นธรรมภายในระบบการบริหารของรัฐ เขาได้สนับสนุนเวทีประชันนโยบายต่อปัญหาของประเทศ เขากล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและการสั่งการเพิ่มผลิตผลทางการเกษตร อย่างไรก็ดี เขายังไม่ได้กระทำการใดดังที่ดำริริเริ่มไว้

...ฟิเดลไม่มีวันเกษียณ เขาจะยังครองพื้นที่ของเขาต่อไปในฐานะผู้นำการปะทะทางความเห็นการตัดสินใจครั้งนี้ยิ่งทำให้เขาสง่างามขึ้นไปอีก...อ้าว แล้วกัน!

โดย :: น.ส. ยิ้มเพียงเยาว์ วิยาภรณ์ ID : 5131007077

นายราอูล คาสโตร (Raul Castro)

นายราอูล คาสโตร (Raul Castro)
ประธานาธิบดีคนใหม่ของคิวบา
นายราอูล คาสโตรน้องชายอดีตประธานาธิบดีฟิเดล คาสโตรได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้นำคนใหม่ของคิวบา

นายราอูล คาสโตร ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของคิวบาต่อจากประธานาธิบดีฟิเดล คาสโตร พี่ชายของเขาเมื่อวานนี้(24 กพ.2551)โดยมีนายโจเซ่ รามอน มาชาโด้ เวนตูร่า เป็นรองประธานาธิบดีคนแรกหรือผู้นำคิวบาหมายเลข 2

ราอูล(ซ้าย) กับฟิเดล (ขวา) ภาพนี้ดูราอูลน้องชายคล้ายจะแก่กว่าฟิเดลพี่ชาย(ภาพจาก www.livinginperu.com เมื่อ สิงหาคม 2006)

ผู้นำคนใหม่ของคิวบาให้คำมั่นว่า จะคงหลักการของการปฏิวัติคิวบาไว้ต่อไป นายราอูล วัย 76 ปี ได้รับการคาดหมายว่า จะนำเอาการปฏิรูปทางด้านเศรษฐกิจบางประการมาใช้และกล่าวว่า เขาอาจจะเพิ่มมูลค่าเงินเปโซของคิวบาใหม่ด้วย ขณะเดียวกันก็จะปรึกษาหารือกับพี่ชายของเขาที่ลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เนื่องจากมีปัญหาสุขภาพในเรื่องการตัดสินใจที่สำคัญของประเทศ

ทางด้านนายทอม แชนนอล นักการทูตระดับสูงของสหรัฐประจำลาตินอเมริกากล่าวว่า การแต่งตั้งให้นายราอูล เป็นผู้นำคนใหม่ของคิวบาทำให้เกิดความเป็นไปได้ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงในคิวบาได้ และกล่าวย้ำยืนกรานจุดยืนของสหรัฐว่า สหรัฐจะไม่ยกเลิกการคว่ำบาตรต่อคิวบาที่กำหนดไว้เมื่อปี 2505 จนกว่าจะมีการถ่ายโอนอำนาจของคิวบาไปสู่การปกครองแบบประชาธิปไตย

ทางด้านประธานาธิบดีฮูโก้ ชาเวซ ของเวเนซูเอลาได้แสดงความยินดีต่อผู้นำคนใหม่ของคิวบาและกล่าวว่า ความสัมพันธ์ของเวเนซูเอลากับคิวบายังคงแน่นแฟ้นต่อไป แม้ว่า ประธานาธิบดีฟิเดล คาสโตร ที่เป็นเพื่อนที่ใกล้ชิดกับประธานาธิบดีชาเวซ จะพ้นจากตำแหน่งก็ตาม

ราอูล คาสโตร สมัยดำรงตำแหน่ง รมต.กลาโหมคิวบา


โดย น.ส. รุจิรา รัศมีจันทร์ ID : 5131007079

วันศุกร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2551

เมื่อวาน/วันนี้/และพรุ่งนี้ ของฟิเดล คาสโตร

เล่าสู่กันฟัง

เมื่อวาน/วันนี้/และพรุ่งนี้ ของฟิเดล คาสโตร
ในที่สุด ฟิเดล คาสโตร ผู้นำตลอดกาลวัย 81 ปี ของคิวบา ก็ประกาศวางมือจากตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งครองมายาวนานร่วม 50 ปี หลังจากต้องเข้ารับการรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลตลอดระยะเวลา 19 เดือน ภายหลังการผ่าตัดกะเพาะอาหาร

คาสโตรประกาศสละตำแหน่งผู้นำทางการเมืองและผู้บัญชาการกองทัพคิวบา โดยยืนยันว่าไม่ประสงค์และจะไม่ยอมรับตำแหน่งทั้งสองโดยเด็ดขาด เนื่องจากปัญหาด้านสุขภาพอย่างไรก็ตามเขายังไม่ได้ถอนตัวจากการเมืองเสียเลยทีเดียว และว่าจะคงต่อสู้ในฐานะ “นักรบแห่งอุดมการณ์” ต่อไป

ฟิเดล คาสโตร เกิดที่คิวบา เมื่อปี ค.ศ.1926 ในครอบครัวของเจ้าของไร่อ้อย และมีความคิดทางขบถมาตั้งแต่เด็ก โดยเมื่อตอนที่อายุ 13 ปี เคยเป็นตัวตั้งตัวตีในการวางแผนให้คนงานในไร่อ้อยของพ่อก่อการสไตร์ค

ถึงแม้ทั้งพ่อและแม่จะด้อยการศึกษา แต่ก็เห็นความสำคัญของการเรียน ทำให้คาสโตรถูกส่งเข้าโรงเรียนประจำของนิกายเยซูอิตตั้งแต่เล็ก ซึ่งแม้จะไม่ชอบกฎระเบียบที่เคร่งครัดของโรงเรียน แต่คาสโตรก็แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการเรียนและความเป็นนักกีฬา จนได้รับรางวัลนักกีฬาประเภทนักเรียนยอดเยี่ยมแห่งชาติ

เมื่อสำเร็จการศึกษาวิชากฏหมาย คาสโตรได้ทำงานเป็นทนายความอยู่ในกรุงฮาวานาและเนื่องจากการทำหน้าที่ให้กับคนจนซึ่งได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาทางกฏหมาย ทำให้คาสโตรประสบปัญหาเรื่องการเงิน อย่างไรก็ตามประสบการณ์ในการเป็น “ทนายคนยาก” คาสโตรได้ซึมซับถึงปัญหาต่าง ๆ ของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ชาวคิวบาทั่วไปถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายทุนและนักธุรกิจอเมริกันซึ่งควบคุมเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในเวลานั้น

ในปี 1947 คาสโตรได้เข้าเป็นสมาชิกพรรคประชาชนคิวบา ซึ่งได้ทำการรณรงค์ต่อต้านการคอรัปชั่น ความไม่เป็นธรรมในสังคม ความยากจน การว่างงาน และการกดค่าแรง โดยพรรคประชาชนคิวบากล่าวหาว่ารัฐบาลกินสินบนและเอื้อประโยชน์แก่บริษัทอเมริกันที่มาเปิดโรงงานและสำนักงานในคิวบา

ถึงปี 1952 คาสโตรลงสมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรคประชาชนคิวบา และเป็นผู้สมัครฝีปากกล้าที่มีลีลาในการปราศรัยหาเสียงเป็นที่ประทับใจประชาชน แต่ถึงแม้ว่าพรรคประชาชนคิวบาจะได้รับความนิยมอย่างสูงและเป็นที่คาดหมายว่าจะมีชัยในการเลือกตั้งทั่วไป แต่แล้วคณะทหาร ที่นำโดยนายพลฟัลเกนซิโอ บาติสลา (Fulgencio Batisla) ก็ชิงเข้ายึดอำนาจไปเสียก่อนทำให้คาสโตรได้ข้อสรุปว่า การปฏิวัติเป็นหนทางเดียวที่จะนำพรรคประชาชนคิวบาก้าวไปสู่การเป็นผู้ปกครองประเทศได้ ดังนั้น ในปี 1953 คาสโตรจึงนำกำลังที่มีกันอยู่แค่ 123 คน เข้าโจมตีค่ายทหารแห่งหนึ่ง ซึ่งผลปรากฏว่าสมาชิกส่วนหนึ่งเสียชีวิตในการต่อสู้ และอีกส่วนถูกสังหารหลังการจับกุม แต่สำหรับคาสโตรนั้น เขาถูกส่งตัวเข้าเรือนจำ และเกือบจะถูกวางยาพิษ แต่โชคดีที่แผนการร้ายถูกเปิดโปง และด้วยแรงกดดันจากโลกภายนอก ทำให้นายพลบาติสลาตกลงใจยอมที่จะปล่อยให้คาสโตรได้มีชีวิตอยู่ต่อไป

คาสโตรถูกนำตัวขึ้นสู่การพิจารณาคดีในศาลด้วยข้อหาดำเนินการปลุกระดมให้มีการใช้กำลังต่อต้านรัฐบาล คาสโตรใช้โอกาสนี้แถลงถึงปัญหาต่างๆ ที่คิวบาเผชิญอยู่ และเสนอแนวทางในการแก้ไข ซึ่งคำแถลงนี้ต่อมาได้รวมพิมพ์เป็นเล่มชื่อ ‘ประวัติศาสตร์จะเป็นผู้ไถ่บาปให้กับฉัน’ (History Will Absolve Me) แม้ว่าศาลจะพิพากษาว่าคาสโตรมีความผิดและลงโทษจำคุก 15 ปี แต่เหตุการณ์ในศาลและหนังสือเล่มนั้นก็ทำให้คาสโตรเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในคิวบาและแนวคิดเรื่องการปฏิวัติของเขาก็ได้รับการยอมรับทั่วประเทศ พร้อม ๆ กับที่พรรคประชาชนคิวบาได้รับการยินยอมให้ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ใหม่ ทั้งหมดนี้กลายเป็นแรงผลักดันให้นายพลบาติสลาต้องยอมปลดปล่อยคาสโตร หลังจากที่ถูกคุมขังได้เพียง 2 ปี บาลิสต้าประกาศจะจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป แต่คำประกาศเหล่านั้นก็ไม่มีทีท่าว่าจะเป็นจริงทำให้คาสโตรเดินทางออกจากคิวบาไปยังเม๊กซิโก เพื่อวางแผนโค่นล้มอำนาจรัฐบาลทหาร

ในปี 1956 หลังจากสะสมอาวุธได้พอสมควร คาสโตรพร้อมด้วยเช เกวารา ฆวน อัลมีดา และพลพรรคอีก 18 คน ก็ลงเรือลอบเดินทางกลับเข้ามาในคิวบา คณะปฎิวัติกลุ่มนี้เป็นที่รู้จักกันในนาม ‘ขบวนการ 26 กรกฏา’ ทั้งนี้เพื่อรำลึกถึงวันที่คาสโตรนำกำลังเข้าโจมตีค่ายทหารเมื่อปี 1953 คาสโตรวางแผนไว้ว่าจะไปตั้งมั่นอยู่บนภูเขาเซียร่า เมเอสตร้า (Sierra Maestra) แต่ถูกซุ่มโจมตีระหว่างทางทำให้สูญเสียกำลังคนและอาวุธซึ่งมีอยู่อย่างจำกัดไปพอสมควร อย่างไรก็ตามในช่วงเวลา 2-3 เดือนต่อมา หน่วยรบแบบกองโจรของคาสโตรก็สามารถลอบโจมตีหน่วยทหารรัฐบาลและยึดอาวุธเพิ่มเติมได้ ชัยชนะของคาสโตรทำให้มีผู้เข้าร่วมมากขึ้น รวมทั้งได้แนวร่วมจากนักศึกษาและพวกพระแคทอลิก ขณะที่รัฐบาลดำเนินการปรามปรามและสืบหาเบาะแสของฝ่ายกองกำลังประชาชนอย่างเข้มงวดและด้วยวิธีการอันรุนแรง ทั้งการทรมาณ และแขวนคอตามถนน เพื่อปรามไม่ให้ประชาชนให้ความร่วมมือกับคาสโตร ซึ่งก่อให้เกิดการต่อต้านอย่างกว้างขวาง และองค์กรอิสระ 45 องค์กร ประกาศให้ความสนับสนุนขบวนการ 26 กรกฏา อย่างเปิดเผย

ต้นปี 1958 บาลิสต้าตัดสินใจที่จะปราบปรามคาสโตรอย่างเด็ดขาด เขาส่งกำลังเข้าบุกที่มั่นของคาสโตร ด้วยการทุ่มทหารกว่าหนึ่งหมื่นคนเข้าบดขยี้กองกำลังปฏิวัติซึ่งมีกำลังอยู่เพียงแค่ 300 คน แต่ทหารของบาลิสต้ากลับต้องแตกพ่าย ทั้งเสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นเรือนพัน ที่เหลืออยู่ก็ถูกจับเป็นเชลย คาสโตรให้การดูแลเชลยเหล่านั้นเป็นอย่างดี ทำให้ทหารส่วนใหญ่เปลี่ยนใจมาเข้าข้างฝ่ายกบฎ ซึ่งเพิ่มความเข้มแข็งแก่คาสโตรอย่างมาก

สหรัฐฯ ให้ความสนับสนุนทางทหารแก่บาลิสต้าในการปราบปรามกองกำลังประชาชนอย่างเต็มที่ ทั้งเครื่องบิน เรือรบ รถถัง และระเบิดนาปาล์ม แต่เมื่อเห็นว่าไม่มีทางที่จะเอาชนะได้สหรัฐฯ ก็แนะนำให้บาลิสต้าจัดการเลือกตั้งทั่วไปเพื่อลดแรงกดดันภายในประเทศแต่ชาวคิวบาประกาศคว่ำบาตรการเลือกตั้งครั้งนี้

จากปฏิกริยาของประชาชนดังกล่าว ทำให้คาสโตรรู้ว่าเขาสามารถที่จะเอาชนะบาลิสต้าได้อย่างเด็ดขาดแล้ว คาสโตรเคลื่อนพลจากที่มั่นบนภูเขาและสวนสนามเข้าไปในตัวเมือง บาเลสต้าตัดสินใจบินหนีออกนอกประเทศ ปล่อยให้บรรดานายพลคนอื่นจัดตั้งรัฐบาลทหารชุดใหม่ ซึ่งคาสโตรตอบโต้ด้วยการเรียกร้องให้คนงานหยุดงาน เพื่อบีบบังคับให้รัฐบาลทหารยินยอมปฏิบัติตามความต้องการของประชาชน – ถึงวันที่ 1 มกราคม 1949 คาสโตรก็นำพลพรรคปฏิวัติเดินแถวเข้าสู่กรุงฮาวานา เพื่อรับตำแหน่งผู้นำคนใหม่ของคิวบา
คาสโตรใช้เวลา 100 วันแรกในตำแหน่ง ไปกับการชำระสะสางปัญหาต่าง ๆ ของสังคมคิวบา และออกกฎหมายใหม่หลายฉบับ ซึ่งกฏหมายดังกล่าวบางฉบับก่อให้เกิดความไม่พอใจแก่สหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฏหมายการครอบครองที่ดินและป้องกันการผูกขาด เนื่องจากบริษัทอเมริกันถือครองที่ดินในคิวบาไว้เป็นจำนวนมาก รวมทั้งกิจการโทรศัพท์คิวบาก็ถูกผูกขาดโดยบริษัทอเมริกัน รัฐบาลสหรัฐฯ ขู่จะไม่ให้ความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งลดการซื้อน้ำตาลลง หากคิวบายังไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายที่มีผลกระทบต่อธุรกิจของคนอเมริกัน แต่ผู้นำคนใหม่ของคิวบาปฏิเสธที่จะยอมตามคำขู่ของสหรัฐฯ ในปี 1960 คาสโตรประกาศยึดทรัพย์สินของบริษัทธุรกิจสหรัฐฯ มูลค่า 850 ล้านดอลล่าร์เป็นของรัฐ และเจรจาขายน้ำตาลที่ถูกสหรัฐฯ ใช้เป็นเครื่องมือในการบีบบังคับคิวบา ให้แก่โซเวียตและยุโรปตะวันออก ซึ่งโซเวียตยังได้ตกลงที่จะให้ความสนับสนุนด้านอาวุธ เทคโนโลยี และเครื่องจักรกลแก่คิวบาแทนสหรัฐฯ

ประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ของสหรัฐฯ ตกอยู่ในฐานะลำบาก เนื่องจากยิ่งบีบคั้นเท่าไหร่ คิวบาก็ยิ่งถอยห่างจากสหรัฐฯ ไปใกล้ชิดกับโซเวียตเท่านั้น และสิ่งที่สร้างความกังวลแก่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มากที่สุดก็คือเกรงว่าโซเวียตอาจใช้คิวบาเป็นฐานในการปฏิบัติการทางทหารต่อประเทศลาตินอเมริกาและสหรัฐฯ ดังนั้นในเดือนมีนาคม 1960 ไอเซนฮาวร์จึงได้อนุมัติแผนการโค่นล้มคาสโตรตามที่ CIA เสนอ แผนดังกล่าวใช้งบประมาณ 13 ล้านดอลล่าร์ และเจ้าหน้าที่ CIA ประมาณ 400 คน เพื่อฝึกอาวุธให้แก่ชาวคิวบาพลัดถิ่นแล้วส่งกลับไปปฏิบัติการในคิวบา รวมทั้งการว่าจ้างมาเฟียอเมริกันซึ่งขุ่นเคืองที่รัฐบาลปฏิวัติคิวบาปิดซ่องโสเภณีและบ่อนการพนันในฮาวานา ให้ลอบสังหารคาสโตร ซึ่งคาสโตรเปิดเผยในภายหลังว่าเขาเกือบจะถูกปลิดชีพถึง 20 ครั้ง แต่ก็รอดมาได้ทุกครั้ง

ในปี 1961 ไอเซนฮาวร์ครบวาระ และจอห์น เอฟ.เคเนดี้ ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ เคเนดี้มอบให้น้องชายคือรอเบิร์ต เคเนดี้ สานต่อแผนการโค่นล้มคาสโตรของไอเซนฮาวร์ ในวันที่ 14 เมษายน 1961 เครื่องบิน B-26 ของสหรัฐฯ ก็เปิดฉากยุทธการถล่มฐานบินของคิวบา ซึ่งเป็นผลให้กองทัพอากาศคิวบาเหลือเครื่องบินเพียง 8 ลำ กับนักบิน 7 คน และสองวันหลังจากนั้น เรือพาณิชย์หลายลำก็ขนชาวคิวบาพลัดถิ่น 1,400 คน เพื่อจะไปขึ้นบกที่อ่าวหมู (Bay of Pigs) ในคิวบา แต่การปฎิบัติการในครั้งนั้นล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เมื่อเรือทั้งสองลำนั้น รวมทั้งเรือที่บรรทุกอาวุธยุทโธปกรณ์ถูกจม เครื่องบินถูกยิงตก 2 ลำ และภายในเวลา 72 ชั่วโมง กองกำลังทั้งหมดก็ต้องเผชิญกับถูกสังหาร หรือไม่ก็บาดเจ็บ และต้องยอมแพ้
เหตุการณ์ที่อ่าวหมูทำให้สถานการณ์ระหว่างสหรัฐฯ กับคิวบาทรุดลงอย่างมาก และคิวบาหันไปหาโซเวียตเต็มตัว ในช่วงต้นเดือนกันยายน 1962 เครื่องบินสอดแนม U-2 ของสหรัฐฯ พบว่าโซเวียตกำลังดำเนินการติดตั้งขีปนาวุธแบบ SAM ในคิวบา และมีเรือโซเวียตเดินทางไปคิวบาเพิ่มขึ้น ทำให้สหรัฐฯ กังวลว่าเรือเหล่านั้นอาจจะขนขีปนาวุธและอาวุธไปให้คิวบา ประธานาธิบดีเคเนดี้ได้แสดงความกังวลในเรื่องนี้ต่อโซเวียต และว่าสหรัฐฯ จะไม่ยอมให้มีการติดตั้งอาวุธที่อาจเป็นภัยต่อสหรัฐฯ ในคิวบา โดยเฉพาะขีปนาวุธ SAM ซึ่งมีศักยภาพที่สามารถทำลายเครื่องบินสอดแนม U-2 ได้ ขณะเดียวกันก็ใกล้เวลาที่จะเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา และคะแนนนิยมของเคเนดี้กำลังลดลงอย่างมากอันเนื่องมาจากปัญหาคิวบา

ในวันที่ 15 ตุลาคม มีรายงานข่าวหลายกระแสว่าโซเวียตได้ติดตั้งขีปนาวุธหัวรบนิวเคียร์พิสัยไกลให้คิวบา เคเนดี้เรียกประชุมเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงเป็นการด่วนเพื่อหาทางสะกัดกั้นเรือโซเวียต ฝ่ายทหารและ CIA เสนอให้ทิ้งระเบิดถล่มหรือส่งกำลังเข้ายึดคิวบา แต่เคเนดี้เกรงว่าจะก่อให้เกิดสงครามนิวเคลียร์กับโซเวียต ขณะที่เสียงส่วนใหญ่เห็นว่าควรใช้กองเรือรบปิดล้อมคิวบา เคเนดี้ค่อนข้างจะเห็นด้วยกับการปิดล้อม แต่ก็สั่งให้ฝูงบินเตรียมพร้อมที่จะปฏิบัติการได้ในทันทีที่ได้รับคำสั่ง

โลกตกอยู่ในภาวการณ์ตึงเครียด เมื่อสหรัฐฯ ยื่นคำขาดให้เรือโซเวียตที่มุ่งหน้ามายังคิวบาให้หันหัวกลับไป ขณะที่เสียงของชาวสหรัฐฯ ส่วนใหญ่สนับสนุนท่าทีอันแข็งกร้าวของเคเนดี้ จนถึงวันที่ 24 ตุลาคม เรือโซเวียตที่เผชิญหน้ากับกองเรือสหรัฐฯ ซึ่งปิดล้อมคิวบาอยู่ ก็ยินยอมกลับลำ ต่อมาในวันที่ 26 ตุลาคม นายกรัฐมนตรีนิกิต้า ครุสเชฟ แห่งสหภาพโซเวียต ก็ส่งสาส์นถึงเคเนดี้ แจ้งว่าโซเวียตยินดีจะย้ายฐานขีปนาวุธจากคิวบา แต่มีข้อแม้ว่าสหรัฐฯ จะต้องไม่ใช้กำลังรุกรานคิวบา

สถานการณ์ที่ทำท่าว่าจะคลี่คลายไปในทางที่ดีเกิดความพลิกผันอีกครั้ง เมื่อเครื่องบินสอดแนม U-2 ของสหรัฐฯ ถูกยิงตกในคิวบา ฝ่ายทหารได้ทวงถามสัญญาที่เคเนดี้เคยให้ไว้ในช่วงวิกฤตการณ์ เมื่อเขาเลือกใช้มาตรการการปิดล้อมแทนการโจมตีคิวบา ว่าหากเครื่องบิน U-2 ถูกยิง จะยอมให้ฝ่ายทหารถล่มคิวบา แต่เคเนดี้ปฏิเสธการทวงถามของทหารและยอมรับข้อเสนอของครุสเชฟ

วิกฤตการณ์ขีปนาวุธในคิวบา เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวของการเผชิญหน้ากันทางนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐฯ กับโซเวียต และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของสงครามเย็น ซึ่งจบลงด้วยการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในที่สุด

คาสโตรยังคงเป็นไม้เบื่อไม้เมากับสหรัฐฯ และรับความช่วยเหลือจากโซเวียตต่อมาโดยตลอด จวบจนสิ้นยุคของโซเวียตในปี 1989 ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจจากโซเวียตก็พลอยยุติลงไปด้วย

ในปี 1991 เศรษฐกิจของคิวบาทรุดลงตามภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ การขาดเครื่องอะไหล่และการซ่อมบำรุงทำให้เครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตน้ำตาลและยาสูบมีประสิทธิภาพต่ำลง รวมทั้งไม่สามารถจะพึ่งพาตลาดในยุโรปตะวันออกได้เช่นเดิม

แม้ว่าฟิเดล คาสโตร จะเป็นสัญลักษณ์แห่งการปฎิวัติ และการแข็งข้อต่อมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และยังคงได้รับการยอมรับนับถือจากผู้นำในประเทศลาตินอเมริกาจากอดีตถึงปัจจุบัน แต่เขาก็ได้รับการวิพากษ์ทั้งด้านดีและด้านร้าย ในส่วนหนึ่ง ฟิเดล คาสโตร เป็นตำนานการต่อสู้อันยิ่งใหญ่กับระบอบเผด็จการ แต่อีกด้านหนึ่งเขากลับปกครองประเทศอย่างเข้มงวดและไม่เคยยินยอมให้มีการเลือกตั้งโดยเสรีในคิวบา
ในสายตาขององค์กรสิทธิมนุษยชนแห่งชิลี ก็เห็นว่า ด้านหนึ่งคาสโตรจะถูกจดจำในฐานะผู้ฉกฉวยสิทธิมนุษยชนไปจากประชาชนคิวบา แต่อีกด้านหนึ่งคาสโตรจะถูกจารึกในฐานะ

ผู้ให้ประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองในด้านที่อยู่อาศัย สุขภาพ การศึกษา ฯลฯ
โดย นายอดิศร คุปตวนิชเจริญ ID: 5131007105

วันพุธที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2551

บันทึกลูกผู้ชายชื่อ...เช

มีทั้งคนที่รู้จักและไม่รู้จักเขาคนนี้...




สำหรับคนที่รู้จักเขาในเมืองไทย มีตั้งแต่นักปฏิวัติ นักศึกษา ปัญญาชน จนถึงสิงห์รถบรรทุก โดยดีกรีแห่งการรู้จักนั้นลึกซึ้งแตกต่างกันไป

ใช่แล้วค่ะ ดิฉันหมายถึง เช เกวารา (Che Guevara) ชาวอาร์เจนตินา 1 ในอดีตผู้นำการปฏิวัติคิวบา

ช่วงนี้มีหนังของเชเข้ามาฉายที่บ้านเราค่ะ ชื่อเรื่อง “บันทึกลูกผู้ชายชื่อ...เช” หรือ “The Motorcycle Diaries” หนังเรื่องนี้เป็นประวัติของเช ก่อนที่จะกลายเป็นนักปฏิวัติผู้ยิ่งใหญ่

“บันทึกลูกผู้ชายชื่อ...เช” เป็นเรื่องราวของเช หรือ เอร์เนสโต ราฟาเอล เกวารา เด ลา เซร์นา (Ernesto Rafael Guevara de la Serna) ในวัย 23 ซึ่งเหลืออีกเพียงปีเดียวก็จะเรียนจบเป็นแพทย์ แต่เขาและอัลเบร์โต กรานาโด (Alberto Granado) นักชีวเคมีรุ่นพี่วัย 29 ตัดสินใจตะลุยทวีปอเมริกาใต้ด้วยกัน โดยมีรถมอเตอร์ไซค์ Norton 500 รุ่นปี 1939 เป็นพาหนะคู่ใจ

แต่มอเตอร์ไซค์เฒ่าก็ร่วมทางกับพวกเขาไปไม่ตลอดรอดฝั่ง

ตลอดเส้นทางกว่า 10,000 กิโลเมตร จากอาร์เจนตินาไปยังเวเนซุเอลาในเวลา 9 เดือน เอร์เนสโตได้เห็นสภาพที่แท้จริงของอเมริกาใต้ผ่านชีวิตของคนผู้ยากไร้และด้อยโอกาส...คนแล้วคนเล่า สิ่งเหล่านี้นี่เองที่หล่อหลอมให้เขากลายเป็นคนใหม่

โลกเปลี่ยนแปลงเขา จนเขาพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงโลก!

สำหรับคำว่า “เช” นั้น เป็นคำที่ชาวอเมริกาใต้อื่นๆ มักใช้เรียกชาวอาร์เจนตินา เนื่องจากคนที่นั่นชอบใช้คำว่า “เช” ซึ่งมีความหมายตั้งแต่เป็นคำทักทายทั่วไปจนถึงใช้เรียกเพื่อนฝูง หนังไม่ได้ทำออกมาแบบการเมืองจ๋านะคะ แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าไม่ใช่หนังการเมือง หนังสวยมากค่ะจนหลายคนวิจารณ์ว่า พระเอกที่แท้จริงของหนังเรื่องนี้อยู่ที่ทิวทัศน์อันงดงามและมีมนต์ขลังของอเมริกาใต้นั่นเอง ขณะที่เพลงประกอบก็สมกับรางวัลออสการ์ที่ได้มา

อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าผู้ชมจำนวนหนึ่งหลงใหลในความหล่อเหลาของเชหนุ่ม ซึ่งแสดงโดย กาเอล การ์เซีย เบร์นัล (Gael Garcia Bernal) นักแสดงหนุ่มชาวเม็กซิกัน ที่ได้รับบทเชอีกครั้ง หลังจากที่เคยรับบทนี้มาแล้วจากมินิซีรีส์เรื่อง “Fidel” หนุ่มเม็กซิกันคนนี้มีฝีมือ ไม่ใช่ดีแต่หล่ออย่างเดียวค่ะ

ขณะเดียวกัน หลายคนก็ชื่มชมในฝีไม้ลายมืออันจัดจ้านของโรดริโก เด ลา เซร์นา (Rodrigo de la Serna) ซึ่งรับบทเป็นอัลเบร์โต นักแสดงอาร์เจนตินาผู้นี้เป็นญาติห่างๆ ของเชตัวจริงด้วยนะคะ และจากหนังเรื่องนี้เองที่ส่งให้เขาได้รับรางวัลนักแสดงดาวรุ่งยอดเยี่ยมจาก Independent Spirit Awards

“บันทึกลูกผู้ชายชื่อ...เช” กำกับการแสดงโดย วอลเตอร์ ซัลเลซ (Walter Salles) ผู้กำกับชาวบราซิลที่หลายคนติดใจผลงานของเขาจาก “Central Station” และอำนวยการสร้างโดย รอเบิร์ต เรดฟอร์ด (Robert Redford) เมื่อหนังสร้างเสร็จ เรดฟอร์ดได้หิ้วไปให้ ฟิเดล คาสโตร (Fidel Castro) ผู้นำคิวบา สหายร่วมรบของเชดูถึงกรุงฮาวานาค่ะ

หลังจากร่วมกับคาสโตรปฏิวัติคิวบาสำเร็จ ในปี 1959 เชยังคงเดินหน้าปฏิวัติอเมริกาใต้ต่อไป แต่แล้วก็ต้องจบชีวิตด้วยน้ำมือของทหารโบลิเวียในเดือนตุลาคม 1967 ขณะอายุ 39 ปี และกลายเป็นตำนานที่โลกไม่ลืมนับแต่นั้น

ใครที่ชื่นชอบหรืออยากรู้จักเชไม่ควรพลาดหนังเรื่องนี้ค่ะ!




โดย นายสมศิลป์ เรืองแสงทองกุล ID: 5131007091

เช เกวารา นักรบในอุดมคติ : Che Guevara (1928-1967)

เช เกวารา นักรบในอุดมคติ : Che Guevara (1928-1967)


เออร์เนสโต เช เกวารา บุรุษหน้าตาคมคาย ตามประสาลูกครึ่งไอริช - สเปน คิ้วเข้ม หนวดเคราดกหนา ผมยาว ใส่หมวกแบเร่ต์ติดดาว ผู้ทำให้คำว่า "การปฏิวัติ" ในหัวใจคนหนุ่มสาวเป็นรูปร่างชัดเจน ที่สำคัญเรื่องราวของเช ก็ราวกับนิยายสะเทือนใจ

เช เกวารา หรือ เอร์เนสโต ราฟาเอล เกวารา เด ลา เซร์นา (Ernesto Rafael Guevara de la Serna)เกิดที่ประเทศอาร์เจนตินา เมื่อปี 1928 ในครอบครัวคนชั้นกลาง หลังจากจบการศึกษาด้านการแพทย์ ด้วยวิญญาณของนักต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม เขาเดินทางไปท่องทวีปอเมริกาใต้ และเข้าร่วมกับองค์กรประชาชนประเทศต่างๆ ต่อสู้กับรัฐบาลที่ปกครองประเทศอย่างกดขี่ข่มเหงประชาชน ชีวิตในช่วงแสวงหานี้ ทำให้เขามีโอกาสรู้จักกับ ฟิเดล คาสโตร นักปฏิวัติหนุ่มชาวคิวบา และเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครที่มี คาสโตร เป็นผู้นำ

เช ได้พบกับ คาสโตร เมื่อปี 1955 เมื่อคาสโตรถูกเนรเทศจากคิวบา โทษฐานก่อรัฐประหารหมายโค่นเผด็จการบาติสต้า รวมสมัครสมัครพรรคพวกได้ 82 คน ลงเรือจากเม็กซิโกในคืนเดือนมืด แรมทะเลเจ็ดคืนจึงขึ้นฝั่งที่คิวบา เพราะโดนคลื่นลมพัดพาไปผิดเป้าหมาย ทำให้ถูกโจมตีจนเหลือกำลังพลเพียง 12 คน - ปี 1959 ฟิเดล คาสโตร ก็ยึดคิวบาได้ เชได้รับการยกย่องจากคาสโตรให้เป็นนักทฤษฎีคนสำคัญ

"นักรบกองโจร คือชนิดของคนที่เสมือนผู้นำทาง เขาจะต้องช่วยคนจนเสมอ เขาจะต้องมีความรู้พิเศษทางเทคนิค มีวัฒนธรรมและศีลธรรมสูง มีความอดทนยิ่งต่อความทุกร์ทรมาน และความยากลำบาก มีความสำนึกทางการเมืองสูง" เช เกวารา นักทฤษฎีและนักปฏิวัติฝ่ายซ้าย ผู้เชื่อมั่นการต่อสู้ด้วยสงครามกองโจร กล่าว

หลังจากประสพผลสำเร็จในสงครามปฏิวัติล้มล้างรัฐบาลบาติสต้าแล้ว ฟิเดล คาสโตร ขึ้นเป็นประธานาธิบดี เช เกวารา เหมือนเป็นหมายเลขสองของประเทศรองจากคาสโตร เขาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี และดูแลการเงิน การคลังของประเทศในตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารชาติ ของคิวบา แต่ด้วยวิญญาณแห่งการปฏิวัติไม่เคยมอดไหม้ไปกับยศฐาบรรดาศักดิ์ เขาลาจากคิวบาและคาสโตร พร้อมเพื่อนๆ เพื่อไปร่วมสงครามปฏิวัติที่ คองโก ในทวีปแอฟริกา แต่ล้มเหลว จากนั้นจึงเดินทางเข้าไปยังประเทศโบลิเวีย เพื่อร่วมกับกบฏโบลิเวียทำสงครามปฏิวัติโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการโบลิเวียในสมัยนั้น

เชได้ทำตามหลักการที่เขาวางไว้ โดยเมื่อเขาลาออกจากตำแหน่งการเมืองในรัฐบาลคาสโตร เพื่อออกไปเป็นนักรบกองโจรในโบลิเวียนั้น "ผมไม่ได้ทิ้งสมบัติอะไรไว้ให้ภรรยาและลูกๆ ของผม แต่ผมก็ไม่เสียใจ กลับรู้สึกมีความสุขที่มันเป็นไปอย่างนี้" (จดหมายลาถึงคาสโตร)

สังคมนิยมของเช มีความหมายมากกว่าการพัฒนาทางวัตถุ หรือมุ่งเน้นแต่เรื่องยกระดับการครองชีพ "คุณภาพชีวิตจะต้องดีขึ้นด้วย ความหมายของการครองชีวิตต้องจัดควบคู่ไปกับความก้าวหน้าทางวัตถุ... ผู้ใช้แรงงานจะรู้สึกว่าการทำงานเป็นความภาคภูมิที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษย์"และ "ลัทธิทุนนิยมได้ติดสินบนความภาคภูมิใจของคนงาน และเปลี่ยนเขาไปสู่ความละโมบเพื่อตัวเอง ซึ่งเป็นความใฝ่ฝันผิดๆ คือเขาทำงานเพื่อเงิน ไม่ใช่ทำงานเพื่องานของสังคม

การพัฒนาความสำนึกก็หมายความว่า ปลุกเร้าให้กรรมกรทำงานด้วยความเต็มใจและยินดี ไม่ใช่เพื่อความทะเยอทะยาน ไม่ใช่เพราะความกลัว แต่เพื่อบรรลุอุดมการณ์ของพวกเขา เพื่อความเชื่อในตัวผู้นำของเขา และเพื่อความปรารถนาอนาคตที่ดีกว่าสำหรับสังคมทั้งมวล อันจะย้อนเข้ามาสู่ตัวพวกเขาเอง โดยมีรัฐเป็นผู้ดูแลสนองสิ่งที่เขาต้องการทุกอย่าง ด้วยวิธีนี้จะทำให้คนงานสามารถใช้แรงงานเพื่อสิ่งที่ดีงามโดยสิ้นเชิง จนกระทั่งเงินตรากลายเป็นสิ่งล้าสมัย เหมือนกับการค้าทาสที่ต้องสิ้นสุดลง"

นี่คือสังคมในอุดมคติของเช เป็นฝันไกลที่มนุษย์ยังไปไม่ถึง แม้แต่ประเทศที่ปกครองด้วยระบบสังคมนิยม? หรือคอมมิวนิสต์?? แต่ก็ไม่ควรด่วนสรุปว่าความฝันเช่นนี้หมดความหมายลงโดยสิ้นเชิง เพราะครั้งหนึ่งก็เคยกระตุ้นคนหนุ่มสาวให้ร่วมฝัน ร่วมสู้ ร่วมสร้าง จะสำเร็จหรือล้มเหลวจิตใจเช่นนั้น การกระทำตรงนั้นก็ดีงาม ซากความฝันอาจยังมีพลังจางๆ แอบแฝงอยู่ในสังคมปัจจุบันที่มุ่งลิ่วไปในทิศทางทุนนิยม เป็นพลังจางที่ทำให้เหลือส่วนเสี้ยวริ้วรอยของความฝันเก่าๆ อยู่บ้าง

ไม่เฉพาะเรื่องสังคม-เศรษฐกิจ ในเรื่องศิลปะ เชก็ฝันไว้ว่า


"ในสังคมทุนนิยมและในสังคมระบอบสังคมนิยม ศิลปะมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ในสังคมทุนนิยม ศิลปะที่แพร่หลายเป็นเพียงเครื่องหย่อนใจที่ไร้สาระ เป็นทางระบายความไม่สบายใจของมนุษย์ให้เกิดความส่วนตัวชั่วครู่ชั่วยาม..."
หนึ่งในหลายเหตุผลที่เชต้องกลับเข้าป่าอีกครั้ง ทั้งที่อายุย่างเข้าวัยกลางคน และมีโรคหืดหอบประจำตัวมาตั้งแต่เด็ก ก็คือ ความไม่สมหวังในการสร้างคิวบา เขาชิงชังการเห็นแก่ตัวและการช่วยเหลืออย่างเสียไม่ได้ที่โซเวียต และประเทศยุโรปตะวันออกในยุคครุสชอพให้แก่ประเทศด้อยพัฒนา เชจึงลอกคราบการเป็นนักบริหารและนักการฑูตของคิวบาซึ่งตัวเขาเป็นมาหลายปี ออกไปสู่ป่าเพื่อทำการปฏิวัติโดยไม่ได้หยุดหย่อนเหมือนเมื่อวัยหนุ่ม ๆ อีกครั้ง เตรียมพร้อมที่จะใช้ชีวิต และความรู้สึกเยี่ยงมนุษย์ที่ยากจนที่สุดอีกครั้งหนึ่ง


เชพร้อมด้วยสมัครพรรคพวกมิตรร่วมรบเก่า ๆ รวม 17 คน เช้าป่าโบลิเวีย เขาประกาศทำศึกกับมหาอำนาจ ไม่ว่าจะอยู่ในที่ประชุมสหประชาชาติ หรืออยู่ในป่าโบลิเวีย และนี่อาจเป็นสาเหตุแห่งความตายของเขา เขาปลุกเร้าแนวทางให้ประเทศโลกที่สามเอเชีย-อาฟริการ่วมใจกันต่อต้านจักวรรดินิยมทั้งสองค่าย

อวสานของ เช กูวาร่า มาถึง เมื่อกองโจรโบลิเวียของเขาโด่งดังขึ้นทุกทีจนอาร์เจนติน่า -เปรู ต้องสั่งปิดพรมแดนสกัดการแพร่ลามของการปฏิวัติจากโบลิเวีย มีคนเข้าร่วมกองกำลังกองโจรมาขึ้น ทหารรัฐบาลโบลิเวียปรับยุทธศาสตร์รับมือกองโจร

แล้ววาระสุดท้ายของเขาก็มาถึงที่ ยูโร ราไวน์ เชได้รับบาดเจ็บจากการสู้รบและถูกทหารรัฐบาลจับได้ กลุ่มของเขาแตกกระจัดกระจายไม่ต่างกับความหายนะที่ แอลิเกรีย เดอ ปิโอ ในคิวบาระยะต้นการปฏิวัติ มีคนสิบคนเท่านั้นที่รอดชีวิตจากการพ่ายแพ้ครั้งนี้ เขาและเพื่อนๆ ถูกจับได้

เชในฐานะเชลยศึกผู้ได้รับบาดเจ็บถูกสั่งฆ่า ด้วยการยิงเป้าจนร่างพรุน แล้วประชุมเพลิง เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 1967 เถ้าถ่านกระดูกถูกนำไปทิ้งกระจัดกระจายด้วยความหวาดกลัว จบชีวิตของชายวัย 39 ปี ผู้อัดแน่นพลังความคิดฝัน

วันที่ 13 กรกฎาคม 1997 ณ กรุงซานตาครูซ ประเทศโบลิเวีย รัฐบาลของโบลิเวีย ได้ทำพิธีส่งกล่องบรรจุกระดูกของ เช เกวารา วีรบุรุษของชาวคิวบา และนักปฏิวัติเชื้อชาติอาร์เจนตินา กลับคืนสู่ประเทศคิวบา ท่ามกลางความอาลัยของชาวโบลิเวีย

อัฐิของ เช เกวารา ถูกนำขึ้นเครื่องบินจากซานตาครูซ ถึงฮาวาน่า ประเทศคิวบา นายฟิเดล คาสโตร ประธานาธิบดี เพื่อนรักของ เช และเคยร่วมรบ ได้จัดงานต้อนรับอัฐิของ เช อย่างสมเกียรติ ในฐานะวีรบุรุษของชาติ

เพราะ เช เกวารา ไม่ยึดติดกับตำแหน่งใหญ่โตในคิวบา เขาจึงกลายเป็นตำนาน ในจิตใจคนหนุ่มสาวทั่วโลก แม้เวลาจะผ่านมานานถึง 30 กว่าปีแล้ว



โดย นายนัฐพล ชื่นชมขจรสุข ID: 5131007048

วันอังคารที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551

สาธารณรัฐคิวบา

สาธารณรัฐคิวบา (Republic of Cuba)

ธงชาติ:


ตราแผ่นดิน:

คำขวัญ(สเปน) : Patria o Muerte ("Homeland or Death")

ที่ตั้ง :
ตั้งอยู่ในภูมิภาคแคริบเบียนเหนือ ที่จุดบรรจบของทะเลแคริบเบียน อ่าวเม็กซิโก และมหาสมุทรแอตแลนติก คิวบาตั้งอยู่ทางทิศใต้ของสหรัฐอเมริกาภาคตะวันออก และหมู่เกาะบาฮามาส ทางทิศตะวันตกของเกาะเติร์กและหมู่เกาะเคคอสและประเทศเฮติ ทางทิศตะวันออกของเม็กซิโก และทางทิศเหนือของหมู่เกาะเคย์แมนและเกาะจาเมกา

การแบ่งเขตการปกครอง :
14 จังหวัด (provinces) และ 1 เทศบาลพิเศษ* (special municipality - Isle of Youth) ได้ประกอบขึ้นเป็นประเทศคิวบา เขตปกครองนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงใหม่จากเดิมมีเพียง 6 จังหวัด คือ ปีนาร์เดลรีโอ (Pinar del Río) อาบานา (Habana) มาตันซัส (Matanzas) ลัสบียัส (Las Villas) กามากูเอย์ (Camagüey) และโอเรียนเต (Oriente)

1.Isla de la Juventud (Isle of Youth)
2.Pinar del Río
3.La Habana (Havana)
4.Ciudad de la Habana (Havana City)
5.Matanzas
6.Cienfuegos
7.Villa Clara
8.Sancti Spíritus
9.Ciego de Ávila
10.Camagüey
11.Las Tunas
12.Granma
13.Holguín
14.Santiago de Cuba
15.Guantánamo

เพลงชาติ : La Batamesa (The Bayamo Song)
เมืองหลวง : ฮานาวา
ภาษาราชการ : ภาษาสเปน
สกุลเงิน : เปโซ
ประชากร : 11,382,820 คน (โดยประมาณ 2549)
พืชเศรษฐกิจ : อ้อย , กาแฟ , ข้าว , ยาสูบ , กล้วย , สับปะรด ฯลฯ
แร่ธาตุสำคัญ : เกลือแร่ , นิกเกิล , โครเมียม , ก๊าซธรรมชาติ , ทองแดง ฯลฯ


-------

สภาพเศรษฐกิจ :
คิวบาเป็นประเทศเกษตรกรรม ซึ่งก่อนการเปลี่ยนแปลงในปี ค.ศ. 1959 ระบบเศรษฐกิจของคิวบาเป็นแบบทุนนิยม เพราะเศรษฐกิจถูกครอบงำโดยนายทุนต่างชาติ โดยเฉพาะนายทุนชาวอเมริกัน
ผลผลิตที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจคิวบามากที่สุด คือ น้ำตาล โดยยาสูบทำรายได้รองมาเป็นอันดับ 2
เมื่อฟิเดล คาสโตร ขึ้นปกครองประเทศ รัฐบาลได้การปฏิรูปการเกษตรโดยออกกฎหมายที่มีสาระสำคัญดังนี้
1. ที่ดินของเอกชนซึ่งมีเนื้อที่เกิน 30 กาบาเยเรีย (Caballerias) หรือประมาณ 402 เฮกตาร์จะถูกโอนเป็นของรัฐ
2. ที่ดินของเอกชนถ้าใช้ทำไร่อ้อยจะได้รับการผ่อนผันให้มีเนื้อที่ได้ 100 กาบาเยเรียหรือประมาณ 1,342 เฮกตาร์
3. ที่ดินที่โอนเป็นของรัฐถ้าเป็นผืนใหญ่มากจะไม่นำไปแจกจ่ายให้แก่ชาวนา แต่จะจัดตั้งระบบสหกรณ์
4. รัฐจะแจกจ่ายที่ดินให้แก่ผู้เช่าที่นาทำกิน หรือรับจ้างทำนา หรือบุกเบิกที่ดินทำกินระหว่าง 2 ถึง 5 กาบายาเรียหรือประมาณ 27 ถึง 67 เฮกตาร์
5. จัดตั้ง"สถาบันการปฏิรูปการเกษตรแห่งชาติ" (Instituto Nacional de Reforma Agraria) เพื่อดำเนินการปฏิรูปการเกษตรดังกล่าวภายใต้การควบคุมของรัฐ
การปฏิรูปดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากชาวนายากจนและผู้ใช้แรงงานด้านการเกษตรอย่างมาก แต่เจ้าของที่ดินรายใหญ่ทั้งชาวคิวบาและชาวต่างประเทศซึ่งได้รับผลกระทบจากการยึดที่ดินคืนต่างอพยพออกจากคิวบาเป็นจำนวนมาก
ช่วงปี ค.ศ. 1960-1963 คิวบามุ่งจะสร้างความเป็นอิสระทางเศรษฐกิจของชาติ เลิกระบบทุนนิยม จึงลดการปลูกอ้อย (เพราะน้ำตาลที่ผลิตจากอ้อยเป็นสินค้าหลักของคิวบา ซึ่งมีอเมริกาเป็นคู่ค้ารายใหญ่/คิวบาตัดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับอเมริกาในปี 1962) โดยส่งเสริมการปลูกพืชอื่นแทนอ้อย แต่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะการลดปริมาณผลิตอ้อยทำให้กระทบกระเทือนรายได้เข้าสู่ประเทศและโครงสร้างเศรษฐกิจของคิวบาเอง ดังนั้นคิวบาจึงกลับมาส่งเสริมการปลูกอ้อยเช่นเดิม (ค.ศ. 1963)
การปฏิวัติไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมในคิวบาค่อยๆเป็นไปทีละขั้นตอน ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเริ่มต้นตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1950 และมาสัมฤทธิผลในมศวรรษที่1970 แล้วกฌได้ผ่อนคลายมาสู่ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีบ้างเล็กน้อยในทศวรรษ 1980 ในปัจจุบันแม้คิวบาจะยังจัดเป็นประเทศกำลังพัฒนา มีภาวะขาดดุลการค้าแก่ต่างชาติ และไม่มีสินค้าฟุ่มเฟือยตามท้องตลาดทั่วไป แตฐานะทางเศรษฐกิจโดยทั่วไปทั้งประเทศและของประชาชนก็นับว่าอยู่ในระดับที่ดีกว่าประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันหลายประเทศ


----------

สภาพสังคม/วัฒนธรรม :
คิวบาเป็นสังคมที่ประกอบด้วยคนหลายเชื้อชาติอยู่ปะปนกันโดยไม่มีการแบ่งแยกสีผิว ก่อนการปฏิวัติของฟิเดล คาสโตร ชาวคิวบาสวนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก (ร้อยละ 72 ของประชาการทั้งหมด) นอกนั้นนับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ ศาสนายิว และศาสนาที่ผสมผสานระหว่างศาสนาคริสต์กับลัทธิความเชื่อดั้งเดิมของของชนชาวผิวดำ ที่มาจากแอฟริกา ส่วนผู้ไม่นับถือศาสนาใดๆมีสูงถึงร้อยละ 19 ของประชากรทั้งหมด
ภายหลังการปฏิวัติ รัฐบาลของฟิเดล คาสโตร เห็นว่าศาสนาเป็นสิ่งขัดขวางความเจริญก้าวหน้าและการปฏิวัติไปสู่ระบบคอมมิวนิสต์ ดังนั้นจึงมุ่งกำจัดอิทธิพลของศาสนาให้หมดไป หนังสือเกี่ยวกับคำสอนทางศาสนาถูกทำลาย โรงเรียนของศาสนจักรถูกยึดเป็นของรัฐ องค์กรทางศาสนาถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพ อิทธิพลของจักรวรรดินิยมอเมริกาถูกถอนรากถอนโคนจากสังคมคิวบา รัฐส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเชื้อชาติและระหว่างเพศ


-------------


ประวัติศาสตร์คิวบา(พอสังเขป) :
ชาวสเปนเดินทางมาถึงเกาะคิวบาครั้งแรกเมื่อพ.ศ. 2035 แต่ไม่ได้สนใจเกาะนี้มากนักในระยะแรกเพราะไม่มีทรัพยากรธรรมชาติและมีชาวอินเดียนอยู่น้อย จนกระทั่งเกิดการปฏิวัติในเฮติเมื่อราวพ.ศ. 2333 คิวบาจึงกลายเป็นแหล่งอุตสาหกรรมน้ำตาลของสเปนแทนที่เฮติ
คิวบาเป็นดินแดนสุดท้ายในทวีปอเมริกาที่เป็นอาณานิคมของสเปน โฮเซ่ มาตี จัดตั้งพรรคปฏิวัติคิวบาเมื่อ พ.ศ. 2435 เพื่อเรียกร้องเอกราชจนถูกฆ่าเมื่อพ.ศ. 2438 การเรียกร้องเอกราชของคิวบาได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา จนกระทั่งเรือของสหรัฐเกิดระเบิดในอ่าวของกรุงฮาวานาเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2440 ซึ่งกลายเป็นชนวนให้สหรัฐประกาศสงครามกับสเปน ผลของสงครามทำให้คิวบาได้รับเอกราชและอาณานิคมอื่นของสเปนกลายเป็นของสหรัฐ
หลังจากได้รับเอกราช คิวบาตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสหรัฐมาก ในบางช่วงเช่น พ.ศ. 2460 - 2466 คิวบาถูกสหรัฐยึดครองและเข้ามาบริหารโดยตรง ทั้งนี้เพราะสหรัฐมีผลประโยชน์ในอุตสาหกรรมน้ำตาลของคิวบา อิทธิพลของสหรัฐสิ้นสุดลงเมื่อ ฟิเดล คัสโตร เข้ายึดอำนาจจากประธานาธิบดี ฟุลเฮนซิโอ บาติสตา และบริหารประเทศด้วยระบอบสังคมนิยมเมื่อ พ.ศ. 2502 เมื่อถูกสหรัฐตัดความสัมพันธ์และปิดกั้นทางการค้า และสหรัฐสนับสนุนชาวคิวบาโพ้นทะเลให้ก่อกบฏล้มรัฐบาลของคัสโตรจนเกิดวิกฤตการณ์เบย์ออฟฟิกส์เมื่อ 15 เมษายน พ.ศ. 2514 แต่ไม่สำเร็จ รัฐบาลของคัสโตรจึงหันไปสร้างความสัมพันธ์กับโซเวียตและจีนแทน ปัจจุบันคิวบาเป็น 1 ใน 5 ประเทศคอมมิวนิสต์ในโลก (อีก 4 ประเทศคือ จีน เวียดนาม ลาว และเกาหลีเหนือ) และเป็นประเทศเดียวในทวีปอเมริกาที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์


-------------


การปฏิวัติคิวบา


การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองของคิวบาในปี ค.ศ. 1959 มีสาเหตุสำคัญมาจากปัญหารการครอบงำทางเศรษฐกิจและการเมืองของอเมริกาที่เริ่มมาตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 การเข้าไปลงทุนขยายกิจการปลูกอ้อยและการทำอุตสาหกรรมผลิตน้ำตาลของบริษัทอเมริกัน และบริษัทต่างชาติอื่นๆ ได้ทำให้ผู้ผลิตอ้อยและผู้ผลิตน้ำตาลรายย่อยตลอดจนนายทุนระดับชาติของคิวบาไม่สามารถแข่งขันได้ เนื่องจากมีทุนน้อยกว่าจนต้องเลิกกิจการไปเป็นจำนวนมาก จากในสถิติปี ค.ศ. 1959 นั้น บริษัทอเมริกันเป็นเจ้าของโรงงานผลิตน้ำตาลที่ใหญ่ที่สุด 9 ใน 10 แห่งของคิวบา นอกจากนั้น ชาวอเมริกันยังเป็นเจ้าของกิจการไฟฟ้าและโทรศัพท์ถึงร้อยละ 90 กิจการรถไฟร้อยละ 50 กิจการธนาคารร้อยละ 25 กิจการน้ำมันและเหมืองแร่เกือบทั้งหมด เป็นต้น สินค้าที่เข้ามาจากอเมริกาในแต่ละปีก็มูลค่ามหาศาล อันทำให้คิวบาต้องพึ่งพาอเมริกาและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมขั้นเริ่มต้นของคิวบาอย่างยิ่ง เมื่อเป็นเช่นนี้ สภาวะเศรษฐกิจของคิวบาจึงถูกกำหนดโดยอเมริกาอย่างแท้จริง
ในทางการเมืองนั้น ผู้บริหารประเทศของคิวบาในระดับต่างๆจำนวนมากอยู่ภายใต้อิทธิพลของอเมริกา จึงพร้อมที่จะวางนโยบายเศรษฐกิจเพื่อสนองการลงทุนของนายทุนต่างชาติ แต่ไม่มีมาตรการที่จะช่วยส่งเสริมการลงทุนของนายทุนคิวบา และช่วยพิทักษ์ผลประโยชน์ของชาติอย่างมีประสิทธิภาพ
สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ความไม่พอใจการใช้อำนาจการปกครองแบบเผด็จการของประธานาธิบดีบาติสต้า ซึ่งไม่เปิดโอกาสให้ผู้มีความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างจากรัฐบาลสามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และผู้ที่คัดค้านรัฐบาลก็ถูกปราบปรามอย่างรุนแรง

ในวันที่ 26 กรกฎาคม ค.ศ. 1953 ฟิเดล คาสโตร นักกฎหมายชาวคิวบาได้นำกำลังติดอาวุธกว่า 100 คนเข้าโจมตีค่ายทหารมอนกาดา(Moncada) ที่เมืองซานติอาโก เด กูบา แต่ต้องพ่ายแพ้แก่ฝ่ายทหาร อย่างไรก็ตามการกระทำครั้งนี้ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติโค่นล้มประธานาธิบดีบาติสตา และเป็นที่มาของ "ขบวนการ 26 กรกฎาคม" ฟิเดล คาสโตรและน้องชายชื่อ ราอูล คาสโตร ถูกจับและถูกพิพากษาให้จำคุกเป็นเวลา 15 ปี แต่ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1955 กลุ่มของคาสโตรได้รับการอภัยโทษ จึงได้เดินทางไปยังอเมริกาและเม็กซิโกเพื่อเตรียมการปฏิวัติอีกครั้งหนึ่ง
ในวันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ. 1956 ฟิเดล คาสโตร พร้อมด้วย Ernesto Che Guevara นักปฏิวัติชาวอาร์เจนตินา จึงได้นำกองกำลังติดอาวุธ 82 คนจากเม็กซิโกมาขึ้นฝั่งที่จังหวัดโอเรียนเตในคิวบา กองกำลังดังกล่าวได้ปะทะกับทหารของรัฐบาลและรอดชีวิตเพียง 12 คน จึงต้องหลบหนีไปตั้งมั่นอยู่บริเวณเทือกเขามาเอสตรา เพื่อใช้เป็นฐานทำการปฏิวัติต่อไป
บรรดานักปฏิวัติที่รอดตายเหล่านี้ไม่มีใครเลยที่มาจากชนชั้นกรรมกรและชาวนา
-ฟิเดล คาสโตรและดอร์ติโกส เป็นนักกฎหมาย
-ราอูล คาสโตรและโชมอน เป็นนักศึกษา
-เปเรสและบาเยโฮ เป็นแพทย์
-ปาอิส เป็นอาจารย์
-เซียนฟูเอโกสและอัลเมเฮอิราส เป็นชนชั้นกลางที่ตกงาน
-เช กูวาร่าเป็นนักศึกษาแพทย์
ระหว่างเดือนธันวาคม ค.ศ. 1956 ถึงเดือนธันวาคม ค.ศ. 1958 มีผู้เข้าร่วมสมทบในกองกำลังปฏิวัติเพียงประมาณ 1,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากกรรมกรโรงงานอุตสาหกรรม ผู้ใช้แรงงานในไร่นา และชาวนายากจน บุคคลเหล่านี้ไม่ได้เลื่อมใสหรือเข้าใจอุดมการณ์สังคมนิยมแต่อย่างใด แต่ต้องการเพียงจะต่อสู้กับพวกนายทุนที่กดขี่เอารัดเอาเปรียบและยึดที่ดินทำกิน ฝ่ายปฏิวัติต้องสร้างพันธมิตรกับชาวนาในเขตที่ทำสงครามจรยุทธ์โดยให้สัญญาว่าจะให้ผลตอบแทนด้านวัตถุ เช่น ช่วยซื้อผลิตผลทางการเกษตรและจัดหาเครื่องอุปโภคที่ขาดแคลนมาให้ เป็นต้น
ความไม่พอใจระบอบเผด็จการของบาติสต้าและสภาพสังคที่เป็นอยู่ทำให้มีการแสดงพลังต่อต้านรัฐบาลโดยกลุ่มต่างๆหลายครั้ง ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1957 นักศึกษาได้กโจมตีทำเนียบประธานาธิบดี ในเดือนสิงหามปีเดียวกัน ได้มีการนัดหยุดงานทั่วไป ในเดือนต่อมาทหารเรือที่เมืองเซียนฟูเอโกสได้ก่อการแข็งข้อต่อรัฐบาล และในเดือนเมษายน ค.ศ. 1958 ก็ได้มีการนัดหยูดงานทั่วไปอีก ในเวลาเดียวกนนี้ ขบวนการปฏิวัติของฟิเดล คาสโตร ก็สามารถเปิดแนวรบที่ 2 ที่เทือกเขากริสตาล
วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1959 กองกำลังฝ่ายปฏิวัติก็ได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาด โดยเข้ายึดกรุงฮาวานาได้ด้วยกำลังที่มีไม่ถึง 2,000 คน ประธานาธิบดีบาติสต้าหลบหนีไปสาธารณรัฐโดมินิกัน ถือเป็นความสำเร็จของคณะปฏิวัติ

การปฏิวัติไปสู่ระบบสังคมนิยมก่อให้เกิดผลเสียหายเป็นอย่างมากต่อนายทุนชาวอเมริกันที่เคยมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมืองในคิวบา ซึ่งในที่สุดก็ได้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคิวบากับอเมริกาต้องเสื่อมทรามลง อเมริกาได้จำกัดจำนวนการนำเข้าน้ำตาลจากคิวบา ปิดล้อมเมืองท่าคิวบาเพื่อขัดขวางการขนถ่ายสินค้า ตลอดจนส่งกองกำลังติดอาวุธ เข้ารุกรานคิวบา อันนำไปสู่กรตัดความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่าง 2 ประเทศในเดือนมกราคม ค.ศ. 1961 ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1962 องค์การนานารัฐอเมริกัน(Organizacion de los Estados Americanos) ซึ่งอยู่ภายใต้อิทธิพลของอเมริกาก็ได้ขับไล่คิวบาออกจากการเป็นสมาชิก เมื่อสภาพการณ์เป็นเช่นี้ รัฐบาลคิวบาจึงต้องรีบปฏิวัติไปสู่ระบบสังคมนิยมให้เร็วยิ่งขึ้นเพื่อเสถียรภาพและความมั่นคงของชาติ คิวบาได้เสริมสร้างกำลังทหาร ในขณะเดียวกันก็ได้กระชับความสัมพันธฺกับสหภาพโซเวียตมากขึ้น เพื่อขอความช่ยเหลือในการพัฒนาเศรษฐกิจและกองทัพ ในช่วงเวลานี้เองที่คิวบาได้รับรูปแบบการจัดระบบการเมืองการปกครองจากสหภาพโซเวียตมาเรื่อยๆ มีการจัดองค์การทางการเมืองและองค์การทางเศรษฐกิจแบบสหภาพโซเวียต ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1965 พรรคการเมืองภายใต้การนำของฟิเดล คาสโตร ก็ได้เปลี่ยนชื่อมาใช้ชื่อว่า "พรรคคอมมิวนิสต์คิวบา" (Partido Communista de Cuba)
ในที่สุดเมื่อฟิเดล คาสโตร เห็นว่าระบบสังคมนิยมในคิวบามีความมั่นคงเพียงพอแล้วจึงได้ปรับปรุงโครงสร้างทางการเมืองครั้งใหม่ในปี ค.ศ. 1976 โดยมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กำหนดให้มีสถาบันและกระบวนการทางกรเมืองที่ใกล้เคียงกับของสหภาพโซเวียต เริ่มเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ใช้สิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งผู้แทนระดับท้องถิ่นโดยตรง และให้มีรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมโดยตัวแทนประชาชน ระบบดังกล่าวได้ใช้มาจนถึงปัจจุบัน...

สรุปโดยสังเขป
การปฏิวัติไปสู่ระบบสังคมนิยมในคิวบาเกิดจากการที่คณะบุคคลกลุ่มหนึ่งนำโดยฟิเดล คาสโตร มีความไม่พอใจต่อระบอบเผด็จการของประธานาธิบดีบาติสต้า และการครอบงำทางเศรษกิจและการเมืองของอเมริกา ซึ่งทำให้คิวบาถูกเอารัดเอาเปรียบและตักตวงผลประโยชน์ไปเป็นจำนวนมาก บุคคลกลุ่มนี้จึงได้ใช้กำลังติดอาวุธเข้าต่อสู้และยึดอำนาจจากรัฐบาล หลังจากนั้นได้ปฏิวัติไปสู่ระบบสังคมนิยม การเปลี่ยนแปลงของคิวบาทำให้อเมริกาไม่พอใจและตัดความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกัน คิวบาจึงหันไปใกล้ชิดกับสหภาพโซเวียตและรีบเร่งพัฒนาระบบเศรษฐกิจ การเมืองและการทหารให้มั่นคงโดยมีสหภาพโซเวียตเป็นผู้สนับสนุนช่วยเหลือ


------------



วัฒนธรรมทางการเมืองของคิวบา


วัฒนธรรมทางการเมืองของคิวบาเป็นแบบอำนาจนิยมที่ได้สั่งสมมาเป็นเวลานานหลายร้อยปี ตลอดเวลาที่สเปนปกครองคิวบานั้น สเปนได้ใช้วิธีการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางภายใต้การปกครองของผู้ว่าที่ส่งมาจากสเปน แม้จะมีคณะกรรมการบริหารแต่ละเมืองแต่คณะกรรมการเหล่านนี้ก็ต้องรับนโยบายจากผู้ว่าการ และอำนาจสิทธิ์ขาดทั้งหมดก็อยู่ที่ผู้ว่าการซึ่งเป้นตัวแทนของกษัตริย์สเปน ชาวอาณานิคมทั้งที่เป็นชาวสเปนและชาวผิวดำแอฟริกันไม่มส่วนร่วมในการปกครองประเทศ

ต่อมาในสมัยที่อเมริกาเข้ามาปกครองปกครองคิวบาในเวลาอันสั้น แม้อเมริกาจะแสดงให้เห็นว่า ได้พยายามที่จะช่วยคิวบาวางรากฐานการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยสนับสนุนให้มีรัฐธรรมนูญและสถาบันทางการเมืองเหมือนของสหรัฐอเมริกา แต่ในทางปฏิบัติ การปกครองของอเมริกาก็คล้ายคลึงกับของสเปน คือ มีผู้ว่าการฝ่ายทหารที่มีอำนาจเด็ดขาดเข้ามาควบคุมดูแล

ครั้นเมื่อคิวบาเป็นเอกราชโดยสมบูรณ์ ระบอบประชาธิปไตยของคิวบาก็มีอายุไม่ยืนยาว ทั้งนี้เพราะผู้นำส่วนใหญ่ต่างก็นิยมใช้อำนาจเด็ดขาดปกครองประเทศ จนในที่สุดก็ได้ใช้กำลังทหารยึดอำนาจการปกครอง ทำให้ประเทศตกอยู่ในระบบเผด็จการอีกครั้งหนึ่ง (เห็นได้ชัดจากกรณีประธานาธิบดีบาติสต้า)

เมื่อฟิเดล คาสโตร ขึ้นสู่อำนาจก็ได้ปกครองประเทศด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นรูปแบบการปกครองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น ประชาชนคิวบาจึงอยู่ภายใต้การปกครองระบอบเผด็จการมาเกือบโดยตลอด ประชาชนมีความเคยชินกับกระบวนการทางการเมืองที่มีผู้นำเด็ดขาด มีบุญบารมีเป็นที่ยอมรับของประชาชน ซึ่งทำให้การตัดสินใจทางการเมืองจากเบื้องบนสู่เบื้องล่าง อุดมการณ์ทางการเมือง สถาบันทางการเมือง และการมีส่วนร่วมโดยตรงของประชาชนไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดนโยบาย หรือก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ

เมื่อประธานาธิบดีบาติสต้า ยังอยู่ในตำแหน่ง อำนาจบริหารประเทศทั้งหมดอยู่ที่ประธานาธิบดีแต่เพียงผู้เดียว ดังนั้น เมื่อบาติสต้าหลบหนีออกไปนอกประเทศในปี ค.ศ. 1958 สถาบันทางการเมืองเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ กรมตำรวจ รัฐสภา หรือศาลจึงไม่สามารถปฏิบัติราชการต่อไปได้เพราะขาดผู้สั่งการ และเมื่อฟิเดล คาสโตร เข้ามายึดอำนาจการปกครองแล้ว ฟิเดลเองก็ไม่ได้อาศัยกองทัพ พรรคการเมือง สหภาพกรรมกร หรือจนชั้นชานารายย่อยเป็นกำลังสนับสนุน อีกทั้งยังไม่มีอุดมการณ์ซึ่งโน้มน้าวให้มวลชนสนับสนุนการปฏิวัติเลย คงมีเพียงชนชั้นกลางจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่ให้การสนับสนุนอย่างแท้จริง ฟิเดล คาสโตรจึงเป็นผู้นำที่โดดเด่นแต่เพียงผู้เดียว ประชาชนเห็นด้วยและสนับสนุนฟิเดล คาสโตร ก็เพราะต้องการให้โค่นล้มบาติสต้าและระบอบเผด็จการเท่านั้น เมื่อฟิเดล คาสโตร ทำได้สำเร็จ ประชาชนก็ยอมรับในตัวฟิเดล คาสโตรในฐานะผู้นำ ไม่ใช่พรรคหรืออุดมการณ์ใดๆ แม้ฟิเดล คาสโตร จะใช้อำนาจเผด็จการเช่นเดียวกับบาติสต้า แต่ประชาชนส่วนใหญ่ก็ยอมรับการปกครองและการนำของฟิเดล คาสโตร ในฐานะวีรบุรุษที่ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมในสังคม และมุ่งสร้างคิวบาให้เป็นรัฐเอกราชที่เข้มแข็งอย่างแท้จริง นอกจากนั้นคุณสมบัติส่วนตัวของฟิเดล คาสโตร ที่เป็นผู้ก่อตั้งและผู้นำขบวนการปฏิวัติมาโดยตลอด ย่อมเป็นที่ยอมรับนับถือของบรรดาทหารจรยุทธ์ ซึ่งต่อมาได้เป็นผู้ที่รับผิดชอบตำแหน่งสำคัญๆของประเทศ

การยึดมั่นในตัวบุคคลโดยไม่ให้ความสำคัญต่อสถาบันทางการเมืองและอุดมการณ์ทางการเมืองนี้เรียกว่า "ลัทธิบูชาตัวบุคคล" (Personalismo) ซึ่งสนับสนุนให้เกิด"ผู้นำ"(Caudillo) ที่มีอำนาจเด็ดขาดสูงสุด เป็นสัญลักษณ์และศูนย์รวมของทุกสิ่งทุกอย่างในสังคมการเมือง ดังนั้น การริเริ่มหรือการกระทำใดๆที่เป็นของฟิเดล คาสโตรจึงเป็นที่มาของแนวนโยบายแห่งรัฐ


ในระยะแรกที่เริ่มทำการปฏิวัตินั้น มีบุคคลจำนวนมากที่เชื่อว่าฟิเดล คาสโตร ยังไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์ เพราะฟิเดลมุ่งเพียงแต่โค่นล้มรัฐบาลเผด็จการของบาติสต้า และขจัดอิทธิพลของอเมริกาให้หมดไปจากคิวบาเท่านั้น จึงเป็นเพียงนักชาตินิยมและนักปฏิวัติหัวก้าวหน้า ฟิเดลไม่เคยศึกษาสรรนิพนธ์หรือทฤษฎีปฏิวัติของนักคิดคอมมิวนิสต์คนใดคนหนึ่งอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นของคาร์ล มาร์กซ์ เลนิน เหมาเจ๋อตุง หรือโวเหงียนเกี๊ยบ อุดมการณ์และความคิดของผู้นำคอมมิวนิสต์เหล่านี้เพิ่งจะเข้าไปมีอิทธิพลต่อความคิดของฟิเดลในภายหลัง แม้แต่หนังสือพิมพ์ปราฟดาของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียตฉบับวันที่ 3 มกราคม ค.ศ. 1959 ก็ยังลงข่าวการยึดอำนาจรัฐของฟิเดล คาสโตรว่า ฟิเดลเป็นนักชาตินิยมผู้ต่อต้านเผด็จการและจักรวรรดินิยมแต่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ ฟิเดลได้แรงบันดาลใจในการปฏิวัติมาจากโฮเซ่ ฮูเลียน มาตร์ตี ผู้ก่อตั้งพรรคปฏิวัติคิวบาในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 Simon Bolivar นักปฏิวัติชาวเวเนซูเอลา และวีรบุรุษที่มีลักษณะ "ผู้นำ" คนอื่นๆของลาตินอเมริกา

ในภายหลังเมื่อฟิเดลประกาศตนอย่างเปิดเผยว่าเป็นคอมมิวนิสต์และจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ขึ้น ประชาชนผู้นิยมและยกย่องศรัทธาฟิเดล คาสโตร ก็พร้อมที่จะเป็นคอมมิวนิสต์ไปตามผู้นำ ดังนั้น แกนนำในการปฏิวัติที่แท้จริงคือ ฟิเดล คาสโตร ไม่ใช่พรรคคอมมิวนิสต์ จำนวนชาวคิวบาที่เป็น "ผู้นิยมคาสโตร" (castrist) มีมากกว่า "ผู้นิยมคอมมิวนิสต์" เสียอีก

ในปัจจุบันได้มีการส่งเสริมลัทธิบูชาตัวบุคคลของฟิเดล คาสโตรทั่งทั้งสังคมคิวบา นับตั้งแต่เยาวชนรุ่นเล็กจนถึงประชาชนทั่วไป ทุกคนจะได้รับการอบรมให้เคารพยกย่องฟิเดล คาสโตร เหมือนกับที่ชาวีนเคยคลั่งไคล้ประธานเหมาเจ๋อตุง หรือชาวเวียตนามเคารพรักโฮจิมินห์ หรือชาวเกาหลีเหนือศรัทธาคิมอิลซุง มีบทเพลงชื่อ "ทุกคนร่วมกับฟิเดล" (Todos con Fidel) เป็นที่นิยมร้องกันไปทั่ว สถานที่หรือสิ่งของที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวประวัติของฟิเดล คาสโตร จะได้รับการยกย่องให้มีความสำคัญต่อชาต เช่ย ค่ายทหารที่มอนกาดา "ศูนย์การศึกษา 26 กรกฎาคม" เป็นต้น นอกจากนั้น โฮเซ่ ฮูเลียน มาร์ตี และเช กูวาร่า ก็ได้รับการยกย่องเป็นวีรบุรุษของชาติเช่นกัน

การปฏิวัติไปสู่ระบอบคอมมิวนิสต์ของคิวบาประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่ง เป็นเพราะการปฏิวัติเริ่มต้นจากการสร้างผู้นำซึ่งเป็นที่ศรัทธาในหมู่ประชาชน แล้วให้ประชาชนปฏิบัติตามคำสั่งของผู้นำ ถ้าการปฏิวัติเริ่มต้นจากการปลูกฝังอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ให้ประชาชนเกิดจิตใต้สำนึกในการปฏิวัตด้วยตนเองแล้ว ก็อาจจะประสบผลสำเร็จช้ามากหรือไม่ประสบผลสำเร็จเลย.....











โดย น.ส.สมาภรณ์ จันธิมา ID: 5131007093

Profile Group



เพิ่มวิดีโอProfile


นายนัฐพล ชื่นชมขจรสุข
ID: 5131007048
สาขาวิชาภาษาจีนธุรกิจ
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง




น.ส.ยิ้มเพียงเยาว์ วิยาภรณ์
ID: 5131007077

สาขาวิชาภาษาจีนธุรกิจ
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง



น.ส.รุจิรา รัศมีจันทร์
ID: 5131007079
สาขาวิชาภาษาจีนธุรกิจ
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง


นายสมศิลป์ เรืองแสงทองกุล
ID: 5131007091
สาขาวิชาภาษาจีนธุรกิจ
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง




น.ส.สมาภรณ์ จันธิมา
ID: 5131007093
สาขาวิชาภาษาจีนธุรกิจ
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง





นายอดิศร คุปตวนิชเจริญ
ID: 5131007105
สาขาวิชาภาษาจีนธุรกิจ
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง